วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ แขวง ทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น“เรื่อง การพัฒนาตัวชี้วัด การพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อสร้างการยอมรับของสังคมต่อผู้พ้นโทษ (The Development of Indicators and Tools for Evaluating Rehabilitation to gian Social Acceptance of Ex-convicts)
“การคืนคนดี” เป็นความคาดหวังของสังคมที่มีต่องานราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมราชทัณฑ์ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่จัดสรรผ่านสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยมีนางเสาวคนธ์ เจษฎารักษ์ ผู้ตรวจราชการกรม เป็นนักวิจัยหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย รศ. ดร.รัชนกุล ภิญโญภานุวัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช นางสาวเพลินใจ แต้เกษม อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรรมการมูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ และ เรือโทวสันต์ คำนวล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์ เป็นคณะทำงานศึกษา สืบเนื่องจาการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในสภาวะที่มีจำนวนผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยสำหรับการจัดการศึกษาและพัฒนาจิตใจและการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาอัตราการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งพบว่า นักโทษเด็ดขาดต้องโทษครั้งที่ ๒ ขึ้นไป มีมากถึงร้อยละ ๒๖.๙๗ นั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ต้องขังรับโทษตามคำพิพากษาแล้วกรมราชทัณฑ์จะต้องปล่อยตัวไป และอาจกลับไปเป็นปัญหาของสังคม
ปัญหาคือ ทำอย่างไรจะทำให้การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังได้อย่างถูกต้องเหมาะสมซึ่งจะช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ และช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ซึ่งถ้ากรมราชทัณฑ์ มีตัวชี้วัดผลสำเร็จของการพัฒนาพฤตินิสัย จะทำให้การจัดโปรแกรมหรือกิจกรรมการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งถ้า กรมราชทัณฑ์ มีเครื่องมือวัดความสำเร็จของการพัฒนาพฤตินิสัยจะทำให้การแก้ไขผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดีสู่สังคมมี ความเหมาะสม ผู้ได้รับการปล่อยตัวที่กลับตัวเป็นคนดีควรได้รับโอกาสจากสังคมในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับในรายที่แก้ไขไม่ได้หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมควรมีวิธีการ การปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ที่กลับตนเป็นคนดี ดังนั้น การศึกษา เรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อสร้างการยอมรับของสังคมต่อผู้พ้นโทษจะทำให้การดำเนินการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัย มีประสิทธิภาพ สังคมมีความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่แก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ และจะทำให้มีการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อคืนคนดี ได้อย่างเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษา เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาพฤตินิสัย และ เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวัดผลความสำเร็จของการพัฒนาพฤตินิสัย ตลอดจนเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทาง การยกระดับการดำเนินงานการพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อสร้างการยอมรับของสังคมต่อผู้พ้นโทษ
จากการศึกษา พบว่า แม้กรมราชทัณฑ์จะได้จัดให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาอบรมเพื่อแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย โดยรวมพบว่าผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมีระดับการพัฒนาพฤตินิสัยอยู่ในระดับมาก และมีระดับความพร้อมในการอยู่ร่วมกับสังคม พบว่าผู้พ้นโทษที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขมีระดับความพร้อมมากกว่าผู้ที่ต้องโทษซ้ำ นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระทำผิดซ้ำ เป็นปัจจัยภายนอกที่จำเป็นจะต้องมีแนวทางการดำเนินงานในระดับนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม ภาคประชาชน ต่อไป ซึ่งการประชุมรับฟังข้อเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับการพัฒนาพฤตินิสัยให้มีความเหมาะสมในการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน