"การที่เราจะทำอะไรได้รับความชื่นชมจากคนอื่น และมองว่าเรามีความคิดริเริ่ม ตามเราได้ ยอมให้เรานำ นั้นมาจากการทำงาน ผลสำเร็จ หรือประสิทธิภาพของการทำงาน ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ ต่อให้มีจุดที่ตั้งที่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร"
"นายดอน ปรมัตถ์วินัย" รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศ กล่าวตอบเมื่อถูกถามถึงจุดแข็งของประเทศไทยที่จะใช้ข้อได้เปรียบที่มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในการแสดงบทบาทนำในภูมิภาค
ความเป็นจริงที่ว่า นอกเหนือสิ่งที่ธรรมชาติประทานให้ประเทศไทยในเรื่องที่ตั้ง ก็ยังมีจุดเด่นอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติที่เป็นใจ ไม่มีแผ่นดินไหว อุทกภัยมากมายบ่อยๆ ไม่มีวาตภัยแรงๆ เหมือนหลายประเทศต้องประสบ มีดินดี มีพืชพรรณธัญญหารที่ดี มีข้าวพันธุ์ดี มีผลไม้ที่เป็นที่ชื่นชอบ ทำให้เราเป็นชุมทางของการเดินทางเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่หลายประเศหลายภูมิภาคได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้ากระทรวงบัวแก้วเน้นย้ำ ก็คือ "ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์" และ "ประสิทธิภาพการทำงาน" 2 สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญให้ไทย ซึ่งไม่ได้เป็นมหาอำนาจของโลก ยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างาม และเป็นมิตรประเทศได้กับทุกชาติ ในเวทีระหว่างประเทศ
โดยตั้งแต่ประวัติศาสตร์ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ความคิดของผู้นำเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ มองเห็นการณ์ไกล เราเป็นผู้ที่คิดเรื่องอาเซียน จัดตั้งอาเซียนขึ้นมา พอนำเสนอเรื่องเหล่านี้ก็มีการยอมรับแนวคิด และบทบาทของเราเป็นต้น ขณะเดียวกันเราได้มีการทำงานร่วมกับเพื่อนเราในอาเซียน กับคู่เจรจาของอาเซียน หรือกับประเทศใดก็ตามอย่างมีประสิทธิภาพ คุณค่าก็เกิด ทำให้มีการยอมรับในคุณค่าของงานของเรา และคุณค่าเหล่านั้นก็ตกทอดไปถึงเขาด้วย ทำให้ประเทศต่างๆ รู้สึกพอใจกับผลที่เขาได้รับ ว่าเวลาที่เสียไปกับการทำงานร่วมกับเราไม่เสียเปล่า สิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความหมายยิ่งกว่าการบอกว่า เราเป็นผู้นำเสียอีก ทั้งนี้ เพราะเราไม่สามารถไปอวดอ้างได้โดยตัวเอง แต่ต้องมีการยอมรับ ซึ่งการยอมรับที่ดีซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากผลงาน และประสิทธิภาพการทำงาน
ผลงานชิ้นสำคัญที่ไทยประสบความสำเร็จ และก่อให้เกิดคุณค่า ได้รับการยอมรับ ไม่เพียงแต่ในภูมิภาค ยังรวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็คือ ในวาระที่เป็นประธานกลุ่มจี 77 ซึ่งเป็นแนวร่วม (coalition) ประเทศกำลังพัฒนาอย่างหลวม ๆ ที่ออกแบบเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเสริมสมรรถภาพการเจรจาร่วมในเวทียูเอ็น มีสมาชิกก่อตั้ง 77 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 134 ประเทศ เราเป็นประธานที่แตกต่างกับคนอื่นอย่างสิ้นเชิง ในอดีตแต่ละปีก็มีประธาน แล้วก็ทำงานตามพื้นฐานของเขา แต่ในวาระของประเทศไทย นายดอนกว่าวว่า ได้มีการพิจารณาไตร่ตรองว่าจะมุ่งประเด็นใด ไม่ได้คิดจะทำทุกเรื่องที่ในอดีตเขาทำกันมา เพราะทราบดีว่าไม่มีกำลังพอ เวลาก็ไม่พอในหนึ่งปี แต่มุ่งเน้นเรื่องเดียวให้มีน้ำหนักให้มีผล ซึ่งคือ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเป็นวาระของโลกโดยนำมาเชื่อมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้เอามาโยงกับอาเซียน โดยในประชาคมอาเซียนมีวิสัยทัศน์ 2025 หลายๆ เรื่องในนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงกัน ต้องได้รับการพัฒนาไปตามลำดับเวลา มีการเชื่อมโยงกับGlobal Agenda ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแน่นอน เมื่อเกิดขึ้นกับอาเซียนก็จะเกิดประโยชน์กับโลกด้วย
ดังนั้น เมื่อนำเสนอสิ่งนี้มาเสนอ อาเซียนก็ยอมรับและให้ไทยเป็นตัวแทนผู้ประสานงานกับยูเอ็นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมาร่วมการประชุมกับเราเมื่อ ต.ค. ปีที่แล้ว เมื่อทราบว่าเราทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็แสดงความสนใจอยากจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะไม่มีประเทศกำลังพัฒนาที่ไหนที่มาสนใจในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเป็นเรื่องที่มีคุณค่า มีความสำคัญกับนานาประเทศทั่วโลก
สิ่งเหล่านี้เองทำให้ไทยได้รับการยอมรับ ในฐานะประเทศที่มีลักษณะเด่นในด้านการใช้ "Soft Power Diplomacy" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการนำเสนอเรื่องที่เป็นจุดเด่นต่างๆของเรา วันนี้บทบาทในเชิงการทูตของประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเดินไปได้อย่างก้าวหน้าไม่มีหยุด หรือชะงัก แต่มีความรุดหน้ากับทุกประเทศในทั่วทุกมุมโลก ทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี ทั้งในภูมิภาคย่อย ภูมิภาคใหญ่ จนไปถึงระดับโลก คือยูเอ็น ในกรอบทวิภาคี ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทั่วไปหมด ไม่มีประเทศไหนเลยที่มีปัญหาต่อกัน หรือจัดว่าเป็นอริต่อกัน เราสามารถพูดคุยได้กับทุกประเทศในทุกๆ เรื่อง
ส่วนในประเด็นภาพลักษณ์ของประเทศไทย จากการที่มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศยอมรับว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามา แน่นอนก็มีการตั้งข้อสงวนในเรื่องของการเลือกตั้ง แต่พัฒนาการที่ผ่านมา ก็ปรากฏชัดว่ามีการยอมรับ จนกระทั่งมีการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ประจักษ์แก่นานาประเทศว่า ประชาชนไทยให้การสนับสนุนรัฐบาล เมื่อประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ให้การสนับสนุนต่อรัฐบาล ก็ไม่มีประเทศใดมีข้อกังขาอีก เสียงสะท้อนหนึ่งก็คือ คำพูดจากนักการทูตต่างชาติที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสงบ มีรัฐบาลรัฐประหารก็จริง แต่แตกต่างจากนานาประเทศ เพราะไม่เคยได้ยินเสียงปืนที่เกิดจากรัฐบาลรัฐประหารเลย และวันนี้ต้องบอกว่า "ทุกประเทศเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีความเข้าใจในความตั้งใจของรัฐบาลที่กำลังดำเนินตามโรดแมปการปฏิรูปประเทศ"
และสำหรับยุทธศาสตร์กระทรวงต่างประเทศที่ให้ความสำคัญประเทศเพื่อนบ้านนั้น ถือเป็นหัวใจหลัก และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะตามที่ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ว่า ทำอะไรต้องคิดถึงว่าอีกประเทศต้องได้ประโยชน์ด้วย ทำให้นี่เป็นยุคที่ชัดเจนที่สุดที่ เพื่อนบ้านของไทย กับไทยมีความสัมพันธ์ที่สงบเรียบร้อยก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน มีความพยายามที่จะให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมสู่ประชาชนของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างในเรื่องแรงงาน วันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของยูเอ็นที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชน ให้คุณค่ากับเรื่องแรงงาน ให้คุณค่ากับการปราบคอร์รัปชั่น ให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงนามในปฏิญญาโดยภาคเอกชนกับภาครัฐของไทย ซึ่งเรื่องแรงงานเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจิตใจเผื่อแผ่การุณ ให้แรงงานต่างชาติได้เข้าถึงประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษา จากนโยบายหลักของประเทศได้เกือบเสมอเหมือนคนในชาติ ซึ่งเราก็รับรู้ว่า มีภาระที่ต้องรับในด้านงบประมาณ แต่วันนี้ก็กำลังดำเนินอยู่ด้วยความพอใจที่จะทำเรื่องดีๆ เหล่านี้ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่เข้ามาในรูปของแรงงาน และนี่เองคือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับไปไกลทั่วโลก