นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โพสต์ข้อความเปิดใจ หลังยื่นหนังสือลาออกจากรัฐมนตรี ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee ระบุว่า...
ภารกิจของผมเสร็จสิ้นลงแล้วครับ
.
ผมขอกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ไว้วางใจให้โอกาสผมปฎิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลของท่าน ตั้งแต่การเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (19 ส.ค.58 - 15 ธ.ค.59) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (15 ธันวาคม 59 - 23 พ.ย. 60) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (23 พ.ย.60 - 29 ม.ค. 62) และรัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (10 ก.ค. 62- 16 ก.ค.63) บัดนี้ผมได้ปฏิบัติภารกิจของผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมได้หารือเพื่อนร่วมงานของผมทั้ง 3 ท่านแล้ว เห็นพ้องกันว่าขณะนี้ถึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะถอยออกมาเพื่อเปิดโอกาสให้ท่านนายกรัฐมนตรีมีโอกาสเลือกคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามดุลพินิจของท่านโดยปราศจากความกังวลใจครับ
.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงใหม่ที่เกิดจากการควบรวมหน่วยงานของรัฐ 3 กลุ่มงานเข้าด้วยกัน คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กลุ่มการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ) และกลุ่มวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี) เป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” (กระทรวง อว.) โดยผมได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาขึ้นรูปนโยบายและการบริหารจัดการกระทรวงน้องใหม่นี้ ให้เป็นกระทรวงแห่งโอกาส กระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้ ภารกิจในส่วนนี้นั้นผมได้ร่วมกับผู้บริหารอว. วางโครงสร้างกระทรวง และออกประกาศฯที่สำคัญในการบริหารราชการต่างๆของกระทรวงเป็นที่เสร็จสิ้นแล้วครับ
.
มหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนหัวรถจักรในการการขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างคนตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นจะต้องมีการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย” เพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างจริงจัง (Radical Transformation) ผมจึงให้นโยบายการปรับทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาตามความถนัด สร้างความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ ในขณะเดียวกันภายในมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการที่หมักหมมมานาน และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาที่ต้องแก้ไข ผมได้เร่งปฏิรูประบบบริหารมหาวิทยาลัยในหลายด้าน อาทิ ระบบบริหารบุคลากรที่เน้นสมรรถนะและจริยธรรม ระบบงบประมาณ การผ่อนคลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของคณาจารย์ และบุคลากรหลายด้าน เช่น มคอ. ตำแหน่งวิชาการ หรือระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการเร่งพัฒนาระบบการเรียน การสอนรองรับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ หลักสูตร Non-Degree ต่างๆ เป็นต้น
.
การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าให้ได้นั้น การวิจัยและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญผมได้ให้นโยบายการปรับกระบวนทัศน์งานวิจัยของประเทศเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้งานวิจัยที่ออกมาไม่ขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปปฎิบัติและใช้ประโยชน์ได้จริงเชิงพาณิชย์ ผ่านความร่วมมือในลักษณะ Consortium ทั้งจากสถาบันวิจัย หรือมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐและประชาสัมคม ซึ่งงานในส่วนนี้กำลังดำเนินไปได้ด้วยดีครับ
.
กระทรวงอว.ได้มุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นการขับเคลื่อนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับประเทศและระดับโลก โดยยึดการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนโยบายสำคัญที่เป็น New Growth Engine ขับเคลื่อนศักยภาพพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่ให้ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Economy Model ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการลงนาม MOU ระหว่าง 18 หน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นสมัชชา BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมสู่ประชาคมโลก ทั้งด้านอาหาร เกษตร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก่อนสถานการณ์โควิด - 19 BCG Economy model มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 3.4 ล้านล้านบาท การลงทุนของภาคเอกชนในระยะแรกกว่า 10,000 ล้านบาทก่อให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีนโยบายและการบริหารจัดการที่เหมาะสมคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 4.4 ล้านบาทในอนาคตครับ
.
ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้วางรากฐานและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ภายใต้แนวคิด “อว. สร้างคน สร้างงาน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ” ผ่าน “โครงการ อว. สร้างงาน” ซึ่งระยะที่หนึ่ง ได้จ้างงานแล้ว 10,000 อัตรา ระยะที่สองจ้างงานเพิ่มอีก 32,000 อัตรา ในการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของ อว. ทั้งหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่มการจ้างงานบัณฑิต นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 3 แสนคน เข้าร่วม “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการ 1 ตำบล 1มหาวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) โดยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ในระดับตำบลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมโดยเฉพาะด้าน Area base BCG economy ลงไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น Smart Farmer การพัฒนาพืชสมุนไพร การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาการตลาดและสิ่งอํานวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG ลงสู่พื้นที่ให้เกิดการปฏิบัติจริง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยจากเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
.
ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหลักใน 1 ปีกับอีก 6 วัน ที่ผมได้ร่วมกับพี่น้องประชาคมอว. ในการขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ผมขอขอบคุณผู้บริหารอว.ทุกท่าน ชาวประชาคมอว. ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชนและทีมงานของผมทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกับผมในการขับเคลื่อนงานเหล่านี้ออกมาเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฎ ผมหวังว่าในอนาคต กระทรวงอว.ของเราจะเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างโอกาส เป็นพลังและปัญญาในการสร้างอนาคตให้ประเทศไทยครับ
.
สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณทุกกำลังใจ จากพ่อแม่พี่น้อง ภาคเอกชนนักธุรกิจและแฟนเพจที่ได้ติดตามผลงาน ให้ข้อเสนอแนะ ให้กำลังใจกับผมมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าภารกิจการเป็นรมต.อว.ของผมจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ภารกิจของการเป็นคนไทยที่สำนึกในคุณของแผ่นดินยังไม่จบครับ ผมยังมีภารกิจร่วมกับคนไทยทุกคนในการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความรู้รักสามัคคี ซึ่งจะเป็นในบทบาทใดก็ตามผมเชื่อว่าพวกเรายังคงให้กำลังใจกันและกันตลอดไปนะครับ
.
ขอบคุณครับ
สุวิทย์ เมษินทรีย์
16 กรกฎาคม 2563