สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบเป้าหมายตามแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทาย ด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร แผนงานที่สำคัญ (Flagship Project) กลุ่มเรื่อง PM2.5 เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในเรื่องคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ คือ จำนวนวันที่มีปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ลดลง ทั้งนี้ วช. จัด Consortium "การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย” เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ร่วมกับคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิด ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานการประชุม และ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว เป็นที่ปรึกษา ในการร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งแนวทางขับเคลื่อนงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมวิชาการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กอ.รมน. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ผลจากการประชุมได้ข้อสรุปโจทย์วิจัยโดยมุ่งเน้น การศึกษาเชิงลึกด้านสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน/ชุมขนในพื้นที่เผาที่สาเหตุของ PM2.5 การคาดการณ์การเกิดภาวะ Inversion ที่มีผลต่อการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 การศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 แบบทุติยภูมิจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ การสร้างความรับรู้ความเข้าใจผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้แต่ไม่ตระหนก รวมทั้งแนวทางการฟื้นฟูป่าดิบชื้น เป็นต้น