ชี้แม้จะช้ากว่าประเทศแถวหน้า แต่ไม่ได้ล้าหลัง ระบุขั้นตอนทดลองในลิง รอผลตรวจเลือดหลังฉีดวัคซีนกลางมิ.ย.นี้ หากได้ผลดีจะคัดไปผลิตประมาณหมื่นโดส ทดสอบในอาสาสมัคร 3 ระยะ คาดหากทุกขั้นตอนไม่มีปัญหา ประมาณปีครึ่งน่าจะได้ใช้ รวมทั้งหากต่างชาติคิดค้นได้ก่อนก็มีพันธมิตรขอร่วมถ่ายทอดเทคโนฯและจัดซื้อให้ไทยได้มีใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทยว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การกำกับดูแลของก.สาธารณสุข ได้ร่วมกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีหน่วยงานต่างๆ ริเริ่มพัฒนาวิจัยวัคซีนต้นแบบ ทั้ง จุฬาฯ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือม.มหิดล หรือคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ทั้งหมดที่กำลังพัฒนาล้วนอยู่ในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกที่มีกัน ทั้งนี้ ขณะนี้มีความก้าวหน้าของวัคซีนสองตัวคือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีนซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาวัคซีนที่มีความทันสมัยสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในการวิจัยวัคซีนต้นแบบในห้องทดลอง คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และไบโอเทค ของสวทช.กำลังพัฒนาวัคซีนในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันมีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนาจากที่ได้วัคซีนต้นแบบและเริ่มทดลองในสัตว์ทดลอง ซึ่งบ.ไบโอเนท-เอเชีย และไบโอเทค ได้เริ่มทดสอบในสัตว์ทดลองคือ หนู คือ DNA วัคซีน ขณะคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ได้พัฒนา mRNA วัคซีน ซึ่งผ่านการทดสอบในหนู เข้าสู่การทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ผ่านการทดสอบต้องมีขั้นตอนการทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อน และต้องผ่านเงื่อนไขด้านความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลอง แล้วถึงจะเริ่มทดสอบในคนได้ ซึ่งการทดสอบในคนมี 3 ระยะคือ ทดสอบหาความปลอดภัยของวัคซีนว่าในคนปลอดภัยหรือไม่ ดูว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือไม่ และภูมิคุ้มกันนั้นให้ผลในการป้องกันโรคหรือไม่ “ตอนนี้ทั้งโลกเริ่มทดสอบในคน ณ ข้อมูลวันที่ 22 พ.ค.63 มีทั้งหมด 10 ชนิดที่ได้เริ่มทดสอบในคนแล้ว เป็นของจีน สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ขณะเดียวกันยังมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีกกว่าร้อยชนิด ซึ่งรวมของไทยด้วยที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในสัตว์ทดลอง แม้ว่าจะไปได้ช้ากว่าประเทศที่อยู่แนวหน้าแต่ก็ไม่ได้อยู่ในแถวหลัง อยู่ในกลุ่มกำลังวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นพ.นครกล่าวว่า การวิจัยวัคซีนมีเงื่อนไข ว่าอาจจะได้ผลไม่ดีนัก กับการที่ประเทศต่างๆ ได้เริ่มทดสอบไปข้างหน้า ก็จะเป็นพื้นฐานให้ประเทศที่กำลังพัฒนาตามๆ กันไป จะได้เห็นข้อมูลนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ความหวังของนักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกคือการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ป้องกันโรค สำหรับการดำเนินงานเพื่อให้ไทยมีวัคซีนใช้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ คือการที่เรามีนักวิจัยมีศักยภาพ มีหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมสนับสนุน ความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เชื่อมต่อไทยในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโดยหวังว่าในการวิจัยพัฒนาวัคซีนของพันธมิตรพัฒนาแล้วใช้ได้ ไทยก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนฯ และจะมีข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนร่วมกันเพื่อให้ไทยมีวัคซีนได้ในเวลาที่ใกล้เคียงประเทศอื่นๆ ด้านนพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า จุดแข็งของไทยคือไม่ได้เริ่มจากศูนย์ โดยศูนย์วิจัยวัคซีนที่จุฬาฯ ตั้งมา 15 ปี รวมทั้งมีการประสานทุกฝ่ายคือ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งการวิจัยในลิง ปกติฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 อาทิตย์ภูมิจะขึ้น จะตรวจเลือดลิงรอบแรกประมาณกลางเดือนมิ.ย. ถ้าผลเลือดยังต่ำรอปลายเดือนหรือต้นเดือนก.ค. หากผลจากลิงดี ก็เลือกตัวที่ดีที่สุดไปผลิตประมาณหมื่นโดส เพื่อทดสอบในอาสาสมัคร กลุ่มแรกอาจจะ 15 คน คาดวาไม่เกิน 100 คน ระยะที่สอง คาด 500-600 คน ระยะที่ 3 หลายพันคน ทั้งนี้ ต้องเตรียมโรงงานไทยที่จะรับถ่ายทอดเทคโนฯ ของโรงงานขนาดเล็ก ที่จะทดสอบในอาสาสมัคร ซึ่งบ.ไบโอเนท พร้อมจะผลิต ซึ่งถ้าทุกอย่างผ่าน ไทยพร้อมจะผลิตวัคซีนในอีกประมาณปีครึ่ง คือปลายปีหน้า