เสือตัวที่ 6 การขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ ให้ยังคงดำรงความต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเน้นยุทธศาสตร์การยึดครองประชาชนในหมู่บ้านเป็นฐาน และอาศัยการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบให้กับประชาชนเป้าหมายในพื้นที่ โดยอาศัยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญ ร่วมกับการใช้ความเป็นตัวตนเฉพาะถิ่นในพื้นที่ และหลักความเชื่อ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นต่างจากรัฐ เพื่อนำประชาชนเหล่านั้น มาเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ในที่สุด ซึ่งรัฐได้ใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะลดและขจัดเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แกนนำขบวนการฯ มักจะแอบอ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ด้วยการที่รัฐได้พิสูจน์ให้ประชาชนในพื้นที่และประชาคมโลก เห็นเชิงประจักษ์ว่า รัฐได้ใช้กระบวนการยุติธรรม ตามระบบกลไกทางกฎหมายของรัฐ เพื่อนำมาซึ่งการให้โอกาส และสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่แห่งนี้จนถึงที่สุด ซึ่งการดำเนินการของรัฐต่อจำเลยได้นำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐมากขึ้น ด้วยหากพิสูจน์ชัดจากพยานหลักฐานได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็จะถูกพิจารณาให้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบยุติธรรมที่ผ่านมาของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐในระบบยุติธรรมได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ที่เป็นจำเลยในความผิดในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดี และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำในคดีความมั่นคงเป็นที่สิ้นสุดแล้ว รวมทั้งคำถามสำคัญที่สงสัยว่า การที่ผู้ต้องขังทั้งในฐานะจำเลยและที่เป็นผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้วเหล่านั้น มีการสื่อสารถ่ายทอดความคิดและความเชื่อของการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนการใช้โอกาสที่บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของรัฐ (เรือนจำ) เหล่านั้น ให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือ สร้างความเข้าใจอันดีกับรัฐ เพื่อเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้โดยสมบูรณ์ ด้วยความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน เป็นหลักความยุติธรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำที่ร้ายแรง โดยพยายามทำความเข้าใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และการส่งเสริมกลไกและความร่วมมือที่จะนำพาคนที่ตกเป็นเหยื่อหรือหลงผิดในสังคมไปสู่สันติภาพ สันติสุข ด้วยกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมได้เดินหน้าต่อไปในทางสร้างสรรค์และไม่ให้ผู้คนที่ได้รับโทษทัณฑ์เหล่านั้น หวนกลับมาใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาสังคมอีกครั้ง ด้วยบริบทของคำว่า ยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความคุ้นเคยในเรื่องนี้ เนื่องจาก ประเทศส่วนใหญ่ที่มีการใช้ความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน จะเป็นประเทศที่เกิดสงครามทางการเมือง ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างจากประเทศไทย หากแต่สามารถใช้แนวทางยุติธรรมเปลี่ยนผ่านนี้ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งหากต้องการความสำเร็จ จำเป็นที่ต้องมีการดำเนินงานที่เข็มแข็ง เป็นระบบ มีการไปพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และค้นหาความจริง ทั้งนี้ อาจจะเป็นในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ความรู้ที่เป็นองค์รวม ทั้งนี้ กระบวนการทางยุติธรรม สามารถหล่อหลอมให้ประชาชนผู้หลงผิด และเคยเห็นต่างจากรัฐให้เปลี่ยนความคิด ปรับทัศนคติในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อีกแง่มุมหนึ่ง และรอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เกิดการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) มากขึ้น ด้วยการสีส่วนร่วมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและเคยหลงผิด เห็นต่างจากรัฐ ไม่ให้สร้างและขยายเครือข่ายแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำ อันเป็นการตัดวงจรขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างแท้จริง จากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ต้องขังและจำเลยในคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จชต. จำนวนหนึ่ง พบว่า สภาพของแนวคิดของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงฯ ร้อยละ 95.65 ยังไม่ยอมรับในกระบวนการตัดสินคดีที่ผ่านมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงฯ ดังกล่าว ล้วนไม่ยอมรับในระบบยุติธรรมของรัฐ ซึ่งเกิดจากการไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและระบบรัฐเป็นพื้นฐาน ประกอบกับกระบวนการดำเนินคดี ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน อาจมีส่วนหนึ่งซึ่งถูกส่งต่อความคิด ความเชื่อกันมาว่า มีความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งต่อความคิดที่ขัดแย้ง สร้างความแปลกแยกแตกต่างจากรัฐอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่การถ่ายทอดความคิดแบ่งแยกดินแดนโดยตรง แม้กระบวนการในเรือนจำที่มีในปัจจุบัน จะดำเนินการด้วยการเคารพในสิทธิความเชื่อ และวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอย่างมากแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารฮาลาล ที่ประกอบอาหารด้วยผู้ต้องขังชาวมุสลิมเอง หรือการรำมาดตามห้วงเวลาที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม การปรับห้วงเวลารับทานอาหารของพี่น้องผู้ต้องขังชาวมุสลิมให้เหมาะสมในห้วงถือศีลอด ตลอดจนการถ่ายทอดคำสอนตามหลักศาสนาก็ตาม หากแต่สภาพของความคิดที่ยังเป็นปัญหาคับข้องใจของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงก็คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญ ที่ส่งผลให้แนวโน้มในอนาคต เมื่อผู้ต้องขังได้พ้นโทษและออกไปจากเรือนจำไปแล้ว ตลอดจนญาติพี่น้อง คู่สมรส บุตร หลาน มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่จะมีความหวาดระแวงการดำเนินการของรัฐอยู่ต่อไป ซึ่งล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าหมายในการขยายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอย่างน้อย บุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มที่สืบทอดและร่วมขยายแนวคิดการเห็นต่างจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไปได้ เพราะความคิดของการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอดไปยังกลุ่มผู้ต้องขังรายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงฯ ด้วยกันในเรือนจำ ตลอดจนญาติพี่น้อง และบุคคลในครอบครัว ที่มาเยี่ยมในเรือนจำ อันจะเป็นการขยายต่อความเห็นต่างจากรัฐให้กว้างขวางออกไป ด้วยไม่เชื่อมั่นในระบบของรัฐตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งหากรัฐ ยังไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความคิดแปลกแยก โดยการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อยอด ขยายแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นพลังในการต่อสู้กับรัฐต่อไปไม่สิ้นสุด