เสือตัวที่ 6 กระแสการช่วงชิงจังหวะในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนหัวคิดสุดโต่งกับรัฐไทย กำลังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มคนในขบวนการที่กำลังต่อสู้กับรัฐไทยในขณะนี้ กำลังเล่นบท 2 หน้า อย่างกลมกลืนและคู่ขนานกันไปอย่างลงตัว ระหว่างการสร้างภาพของการมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งกับรัฐไทยด้วยการขับเคลื่อนตามกระบวนการสันติวิธีเพื่อนำสันติภาพมาสู่พื้นที่แห่งนี้ กับการใช้กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงเข้าปฏิบัติการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบให้เกิดขึ้นในสายตาชาวโลก ทั้งการก่อเหตุร้ายในที่สาธารณะทั่วไปและการมุ่งโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านความมั่นคง ดังปรากฏให้เห็นกระแสข่าวในสื่อมวลชนทั่วไปในช่วงหลังๆ มานี้ ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ ยังมีการขัดกันด้วยอาวุธ ซึ่งก็หมายถึงการที่คนในพื้นที่มีความขัดแย้งกันและกำลังใช้อาวุธและความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันจนเกิดความสูญเสียเป็นระยะๆ ภาพข่าวที่ปรากฏให้เห็นว่า ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ระหว่างรัฐไทยกับคนในพื้นที่ มีการส่งสารไปถึงสาธารณะทั่วไปในวงกว้างอย่างสอดประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีฐานปฏิบัติการของชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อเวลา 20.55 น.ของวันอังคารที่ 23 ก.ค.62 โดยคนร้ายใช้ระเบิดชนิดขว้าง ปาเข้าใส่ฐานเพื่อส่งสัญญาณเปิดการโจมตี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียจำนวนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยมโดยการที่คนร้ายได้ราดน้ำมันจุดไฟเผาร่าง อส.ที่เสียชีวิตจำนวน 2 นายก่อนที่คนร้ายจะล่าถอยไปอีกด้วย โดยการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงครั้งนี้ มีการปฏิบัติการของแนวร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ควบคู่ไปด้วยการเผายางรถยนต์และโปรยตะปูเรือใบหลายจุด บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 (ปัตตานี-ยะลา) ตั้งแต่ ต.น้ำดำ และ ต.ปะกาลือสง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มุ่งหน้าไปตัวเมือง จ.ยะลา ทำให้รถยนต์ที่สัญจรไปมาได้รับความเสียหายหลายคัน การปฏิบัติการโจมตีฐานปฏิบัติการรักษาความสงบ ชคต. บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานีครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนในขบวนการแห่งนี้ มีการแบ่งงานกันทำ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ในลักษณะแยกกันเดิน แต่ร่วมกันตี ที่มีทั้งการแสดงภาพของการแสวงหาทางออกตมแนวทางสันติวิธี ควบคู่กับการคงการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างภาพของการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ให้สื่อออกไปสู่สายตาชาวโลก ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงของขบวนการ ยังคงมีแนวร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้ ที่มีการช่วยเหลือการหลบหนีของกองกำลังติดอาวุธหลังก่อเหตุร้ายแล้ว ควบคู่กับการสร้างสถานการณ์เพื่อเหนียวรั้ง รบกวนขัดขวางการติดตามกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเหล่านั้น ด้วยการเผายางรถยนต์ตามเส้นทางหลบหนี และการโรยตะปูเรือใบสกัดกั้นการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการอย่างลงตัว สอดประสานกันอย่างมืออาชีพ ควบคู่กับการปลุกกระแสของความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการฉกฉวยการเจ็บป่วยของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงว่าเป็นแกนนำขบวนการ ที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัวเพื่อซักถามของเจ้าหน้าที่ โดยฝ่ายปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ของขบวนการชิงกระแสกล่าวหาว่า นายอับดุลเลาะน่าจะถูกซ้อมทรมาน จนเกิดอาการสมองบวม ต้องนำตัวส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบถึงอาการป่วยของ ส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี ที่แน่ชัดแต่อย่างใด และฝ่ายทหารยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้หมดสติไปเอง ไม่มีการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังพร้อมพิสูจน์ความจริงได้ตลอดเวลา หากแต่กระแสของการป่วยของผู้ต้องสงสัยด้านความมั่นคงรายนี้ กลับถูกจุดติดจนสร้างความเกลียดชังขึ้นและนำไปสู่การอ่างเป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรงดังที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกคนในพื้นที่ที่แห่งนี้ ยังช่วงชิงโอกาสนี้ในการปฏิบัติการข่าวสารต่อสังคมโลกอย่างแยบคาย ไม่ว่าจะเป็น องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เลขาธิการอาเซียน นายกรัฐมนตรีของไทย นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก เป็นต้น โดยเรียกร้องให้นานาชาติเข้าแทรกแซงปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ ในขณะเดียวกัน ก็มีคนในขบวนการสร้างความเห็นต่าง พยายามสร้างภาพให้เห็นว่า ขบวนการนี้แสวงหาทางออกของปัญหานี้ ด้วยวิถีทางสันติภาพ โดยผ่านทีมงานวิชาการที่มีนักคิดระดับนำ นำเสนอผ่านงานวิจัยเรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง” ในทำนองว่า “เรื่องของคนปาตานี ชาวปาตานีต้องเป็นคนจัดการเรื่องของตนเองด้วยตัวของคนปาตานีเอง คนซีแย/โต๊ะนา ไม่มีสิทธิมาก้าวก่าย” โดยมีข้อเสนอว่า “รัฐไทยควรจะยุติความพยายามที่จะให้คนปาตานีที่มีความฝันที่จะได้เอกราชทิ้งความฝันนี้ เพราะความพยายามดังกล่าวจะไม่สาเร็จ แต่ควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีขบวนการเอกราชปาตานีที่ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้มีการถกกันอย่างเปิดเผยและกว้างขวางระหว่างคนปาตานีกันเองว่าการไปสู่เอกราชคือเส้นทางที่เหมาะสมสาหรับปาตานีหรือไม่” เหล่านี้ คือสิ่งชี้สอบว่า การขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐไทยของขบวนการร้ายแห่งนี้ กำลังเดินอยู่บนเส้นทาง 2 บทบาท นั้นคือ สันติภาพ ควบคู่กับการใช้ความรุนแรง อย่างแยบยลที่สุด