เสือตัวที่ 6 การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยการศึกษาในพื้นที่นั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นในการหล่อหลอมทางวิชาการและวิธีคิดให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างชัดเจน ที่ปรากฏชัดเจนก็คือ การเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนา เนื่องจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานเคร่งครัดในศาสนา เพราะมีความเชื่อถือ ศรัทธาต่อกลุ่มโต๊ะครูหรือครูสอนศาสนาในสถานศึกษาเอกชนมากกว่าครูสอนศาสนาในสถานศึกษาของรัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับเห็นว่า การศึกษาในสถานศึกษาทางศาสนาอิสลามดังกล่าวมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตอิสลาม และโอกาสในการเข้าถึงสถานศึกษาดังกล่าวมีมากกว่าสถานศึกษาของรัฐสายสามัญของรัฐทั่วไป ซึ่งขบวนการได้มีการสอดแทรกเข้ามาแสวงประโยชน์จากการที่สถานศึกษา เป็นแหล่งศูนย์รวมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ในการสร้างสมาชิก หรือแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งดังกล่าว เป็นสถานที่ในการหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิด ความเชื่อให้เกิดความเห็นต่างกับรัฐอย่างเป็นระบบ จนเป็นการบ่มเพาะแนวความคิดความเห็นแปลกแยกจากคนไทยโดยทั่วไป อันจะนำไปสู่การสร้างแนวร่วมการก่อความไม่สงบ เพื่อเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์สำคัญคือ การแบ่งแยกดินแดน ด้วยยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ก็คือการทำให้สถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดศูนย์ดุลที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถเข้าถึงสถานศึกษาเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง กระบวนการในการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ จึงสามารถกระทำได้โดยแกนนำและแนวร่วมขบวนการได้อย่างเสรี จนกระทั่งในห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์การดำเนินการของภาครัฐ ทำให้ในปัจจุบัน หน่วยงานด้านความมั่นคง สามารถเข้าไปในสถานศึกษาในพื้นที่ได้มากขึ้น ด้วยหน่วยสันติสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารที่เป็นหน่วยงานที่บุกเบิก นำร่องการเข้าถึงสถานศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานศึกษาที่ล่อแหลมต่อการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงเหล่านั้น ได้ใช้ความพยายามในการเข้าไปให้การช่วยเหลือ สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา และเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความต้องการของสถานศึกษาในพื้นที่สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาสถานศึกษาได้มากขึ้น ในขณะที่สถานศึกษาเอกชนสอนศสานาอิสลาม กำลังได้รับความนิยม เชื่อถือจากพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างสูง จึงมีความไว้วางใจที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่าสถานศึกษาในระดับเดียวกันของรัฐ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่เรียนในสถานศึกษาของรัฐ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย มีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่รัฐให้เงินสนับสนุนรายหัวของนักเรียนในสถานศึกษา รวมถึงการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีกลยุทธ์ เป้าหมายชัดเจนในการดำเนินการ เพื่อการแข่งขันให้อยู่รอดในธุรกิจการศึกษาในพื้นที่ อาทิเช่น การส่งนักเรียนชั้นตาดีกาในเครือข่ายของตน เข้าไปขายตรงต่อพ่อแม่ผู้ปกครองให้ส่งบุตรหลานของตนเข้ามาเรียนในสถานศึกษานั้นๆ หรือการบริการรถรับ-ส่งนักเรียนถึงหน้าบ้าน ซึ่งสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดด้านงบประมาณในการจ้างรถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่ ทำให้เด็กในพื้นที่ถูกดึงออกไปจากสถานศึกษาของรัฐในระดับเดียวกัน ไปสู่สถานศึกษาเอกชนมากขึ้น จึงได้ส่งผลให้สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีความเข้มแข็งมากขึ้นตามจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นควบคู่กับงบประมาณจากรัฐที่อุดหนุนรายหัวของนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเป็นลำดับ ในขณะที่สถานศึกษาในระดับเดียวกันที่เป็นของรัฐเกือบทุกแห่ง กลับอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ด้วยมีจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษาของรัฐ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนค่านิยมและแนวคิดของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีว่า กำลังนิยมชมชอบสถานศึกษาในแบบใดและกำลังคิดและอาจจะมีแนวโน้มพฤติกรรมไปในทางที่อาจเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงของชาติในที่สุด ทั้งที่สถานศึกษาของรัฐซึ่งควรจะเป็นแหล่งที่จะเริ่มต้นสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ปูพื้นฐาน สร้างจิตสำนึกของความเป็นชาติในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมตามแนวทางของรัฐบาลได้ หากกลับต้องเผชิญกับสภาวะที่อ่อนด้อยกว่าสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่อยู่หลายประการ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงในอนาคตของชาติที่มุ่งประสงค์ที่จะผนึกกำลังทุกภาคส่วนของชาติ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามแนวทางสันติวิธี ด้วยแนวคิดพหุวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐจักต้องให้ความสำคัญในปัญหาที่กำลังลุกลาม ด้วยการเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความเข้มแข็งของสถานศึกษาของรัฐ คือคำตอบสำคัญในการแสวงหาแนวทางให้สถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นตัวจักรสำคัญในการหล่อหลอมกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น อย่างมีพลังจากเด็กและเยาวชน รวมทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านั้น ให้สถานศึกษาของรัฐมีความเข้มแข็ง เป็นแหล่งผลิตมวลชนให้กับภาครัฐ อันจะทำให้การนำสันติสุขมาสู่พื้นที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ตามแนวทางพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ผู้ก่อความไม่สงบแนวคิดสุดโต่ง หมดแนวร่วมขบวนการหน้าใหม่ๆ นำไปสู่การบังคับให้แกนนำขบวนการนี้จำเป็นต้องยุติการใช้อาวุธ และกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีในที่สุด