เสือตัวที่ 6 ในช่วงระยะ 2-3 เดือนหลังมานี้ มีการสร้างกระแสของ “ข่าวลือ” ในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ ด้วยสอดรับกับการสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองตั้งแต่การป่วนเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการป่วนเมืองที่เกิดการบาดเจ็บล้มตายที่เล็งเห็นผลในการแสดงให้สังคมภายนอกประเทศเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้ยังคงมีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเพียงความขัดแย้งในความเห็นต่างกับรัฐของคนส่วนน้อยในพื้นที่ หากแต่คนส่วนน้อยเหล่านั้น ยังทรงอิทธิพลทางการเมืองต่อคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ยังต้องการความสงบสุขอย่างที่เป็นอยู่มากกว่า และกระบวนการสร้างข่าวลืออย่างหนาหูในพื้นที่แห่งนี้ ล้วนเกิดขึ้นอย่างตั้งใจของคนระดับมันสมองในขบวนการท้าทายอำนาจรัฐ จนทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาที่เป็นผลเสียกับรัฐในความพยายามแก้ไขปัญหาตลอดมา อาทิ นายยูโซะ ยะลา อุสตาซ หรือ ครูสอนศาสนาโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม หรือปอเนาะพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บเมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย.62 หลังมีกระแสข่าวลือมาตั้งแต่ก่อนถูกยิงว่าจะมีงานทำร้ายหรือสังหารอุสตาซ โดยมีการสร้างข่าวลือกันว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่นายยูโซะ เห็นว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวว่า สาเหตุผมไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่เคยมีปัญหากับใคร ยังงงอยู่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐแน่นอน ถึงแม้ช่วงเกิดเหตุจะไม่เห็นตัวคนร้ายก็ตาม ผมได้คุยกับภรรยาก็ไม่เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ถือว่าเป็นบททดสอบของพระเจ้า และเมื่อหายดีก็จะกลับไปสอนหนังสือต่อไป" ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงว่า นายยูโซะ ยะลา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นคณะที่ปรึกษาด้านการอำนวยความยุติธรรมของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จะไปก่อเหตุทำร้ายนายยูโซะ ทั้งยังขัดกับนโยบายของ ผอ.รมน.ภาค 4 ที่มีนโยบายชัดเจนในการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกภาค รักษาความสงบเรียบร้อย นำความสงบสุขมาสู่พื้นที่แห่งนี้ให้ได้ เพื่อให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาความอยู่ดีกินดีให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยไม่ถูกขัดขวางทำลายจากกลุ่มคนหัวรุนแรง แม้นายยูโซะ จะออกมายืนยันว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งพยานหลักฐานก็ระบุชัดว่า คนร้ายน่าจะรู้จักนายยูโซะ และรู้สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน และพื้นที่เป็นอย่างดีเพราะหลังก่อเหตุแล้วสามารถหลบหนีไปได้ทันที เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถสยบข่าวลือที่ส่งผลร้ายต่อรัฐให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ จึงเป็นไปได้อย่างสูงว่า ข่าวลือต่างๆ ที่เป็นผลเสียกับรัฐที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนี้ มีการกระทำอย่างเป็นขบวนการ ผ่านโลกโซเชียลที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อสร้างกระแสที่เกื้อกูลงานด้านยุทธการของฝ่ายขบวนการเห็นต่างจากรัฐ นั่นก็คือการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับรัฐได้อย่างทรงพลัง การสร้างข่าวลือที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ที่นักการทหารใช้ในการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางจนเป็นที่รู้จักคำว่า IO ในสาธารณะชนทั่วไปแล้ว อย่างในกรณีการเชิญตัว นายมุกตาร์ แวเลาะ อุสตาสของโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม หรือปอเนาะพ่อมิ่ง เมื่อวันอังคารที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อม โดยจัดกำลังเข้าไป 2 ชุดปฏิบัติการ รวม 24 นาย และมี 6 นายเข้าไปเชิญตัวอุสตาสในโรงเรียน ที่เหลือรออยู่ด้านนอก โดยระหว่างนั้นมีความพยายามปลุกระดมนักเรียนประมาณ 100 คนให้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงเห็นได้ว่าไม่เป็นไปตามที่มีความพยายามให้ข่าวผ่านสื่อบางแขนงว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ใช้กำลังกว่า 100 นายเข้าจับกุมอุสตาสท่ามกลางนักเรียนกว่า 1,000 คน เหล่านี้คือกรณีตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งในการสร้างข่าวลือ เพื่อรบกวน ขัดขวางการแก้ปัญหาของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา การสร้างข่าวลือที่มีอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายขบวนการสร้างความแปลกแยกกับรัฐ มีทีมงาน IO มืออาชีพ ที่สามารถปฏิบัติการข่าวสาร สร้างข่าวลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวนำการปฏิบัติการของฝ่ายรัฐไปหลายก้าว โดยฝ่ายขบวนการจะสร้างข่าวลือทุกรูปแบบ และเป็นข่าวลือที่สร้างความเชื่อถือให้เกิดกับพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้มาก ในขณะที่ฝ่ายรัฐกลับเป็นฝ่ายแก้ข้อกล่าวหา แก้ข่าวลือที่เป็นข้อมูลเท็จอย่างเชื่องช้า โดยกลุ่มเป้าหมายของข่าวลือเหล่านั้น ได้รับรู้และเชื่อถือข่าวลือไปก่อนแล้วเสมอ ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาไฟใต้ในพื้นที่ โดยการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเมืองนั้น กระทำได้ยากลำบากมากขึ้น ทั้งที่ข่าวลือในพื้นที่ล้วนมีผลต่อการดำเนินการนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่ปลายด้ามขวาน หากแต่ภาครัฐเองกลับให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับข่าวลือของฝ่ายขบวนการน้อยเกินไป กระบวนการสร้างข่าวลือของฝ่ายเห็นต่างจากรัฐจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นๆ จนทิ้งห่างงาน IO ของรัฐไปอย่างไม่เห็นฝุ่น