ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ หลังการเดินทางลงพื้นที่ จ. นราธิวาส ครั้งล่าสุด ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ อาทิ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และร่วมประชุมกับส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ก็ได้เดินทางล่วงหน้าไปยัง จ.นราธิวาส แล้ว จากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส” รวมถึง “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ต้นแบบเมืองพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกกล่าวถึงและโหมกระพืออย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ วันที่ 27 กรกฎาคม ที่โรงแรมอิมพีเรียล จ.นราธิวาส มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “โอกาสทองการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส” โดยมี ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษหัวข้อ “เมืองต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บรรยายเรื่อง “”เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคและอาเซียน” การบรรยายเรื่อง “โอกาสทองการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส” โดย ไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ และการเสวนาจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส” ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพื้นที่อีกๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 กลุ่มพื้นที่หลัก ภาคใต้ คือที่ สงขลา และนราธิวาส โดยพื้นที่เป้าหมายในนราธิวาสที่ประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวม 5 ตำบล 5 อำเภอ ได้แก่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ, ต.โคกเคียน อ.เมือง, ต.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก, ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ และ ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง รวมเนื้อที่ 146,995.625 ไร่ กล่าวสำหรับความโดดเด่นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส คือ การมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็น Gateway เป็นประตูการค้าชายแดนสู่ประชาคมอาเซียนทางใต้ ผ่านทิศตะวันออกของมาเลเซียสู่สิงคโปร์ และติดอ่าวไทย มีศักยภาพด้านการขนส่งทั้งทางรถไฟ เรือ และทางอากาศ มีทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู ทุนทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญในเชิงการลงทุนนราธิวาสมีสิทธิประโยชน์คูณ 2 คือ การเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หากนักลงทุนสนใจมาประกอบการลงทุน จะมีสิทธิพิเศษทั้งด้านภาษี ด้านการเงิน รวมถึงได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOI ระดับสูงสุด (เฉพาะประเภทกิจการ) เอกสารประกอบการจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อพิจารณาแบบเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากความสมบูรณ์พร้อมของปัจจัยการผลิตทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า ตามลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแหล่งของ “เขา ป่า นา เล” ในเรื่องของ “ทุนมนุษย์” พื้นที่แถบนี้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีต้นทุนที่ดีทางศาสนาและวัฒนธรรม สามารถนำอัตลักษณ์ที่มีไปเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ได้อย่างหลากหลายทั่วโลก อันเนื่องจากความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น “พหุสังคมที่ดีงามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เช่น คนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และพื้นที่ก็เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็น “ระเบียงเมกกะ” อันเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นสำคัญของพื้นที่ นอกจากนี้ ลักษณะภูมิประเทศที่มีอาณาเขตชายแดนติดต่อกับประเทศที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศภายในอาณาเขตโพ้นทะเล อย่างเช่น อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นประตูการค้าหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรม และการพาณิชย์แห่งภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงประเทศโลกตะวันออกที่มีศักยภาพ ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิม รวมถึง จีน และ ญี่ปุ่น รวมถึงความพร้อมของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถาบันให้ความรู้และวางรากฐานการพัฒนาที่สำคัญ ภายใต้ฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงความร่วมมือต่างๆ จากสถาบันการศึกษาในส่วนกลางและต่างประเทศ ที่ร่วมเป็นเครือข่ายการสร้างคน สร้างความรู้ “แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ตามโอกาสและศักยภาพพื้นที่ที่มีอยู่อย่างสูงสุด เนื่องจากเหตุปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และเป็นที่มาของเงื่อนไข ข้อจำกัด ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น” เอกสารระบุถึงข้อจำกัดสำคัญที่บั่นทอนการพัฒนาพื้นที่ รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทย เดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ส่วนของพื้นที่ภาคใต้ มีกรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกลไก “ประสานประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชนขนาดใหญ่ เอกชนในพื้นที่ ประชาชน และสถาบันการศึกษา ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการนำจุดแข็งของพื้นที่มาประกอบสร้างฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ให้เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ” ด้วยรูปแบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อเป็นต้นทุนการผลิตอาหารสุขภาพและอาหารฮาลาล สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ผ่านการสร้างเมืองเข้มแข็ง สร้างความเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองสำคัญให้เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Smart Green Cities)” ในพื้นที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความน่าสนใจ ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ฐานการลงทุน และศักยภาพเดิมของพื้นที่ ทรัพยากรมนุษย์และแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับธุรกิจเอกชนทั้งภายในและนอกประเทศ โดยจะมีการเจรจาการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านช่องทางการเสนอมาตรการจูงใจการค้าและการลงทุนที่เป็นไปได้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ทั้งนี้ในชั้นต้นมีการเสนอเป็นรูปแบบ “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เชื่อมโยงพื้นที่ถึงกันในลักษณะเครือข่าย ประกอบด้วย เมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ (International Border Trade City) เมืองเบตง จ.ยะลา เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และเมืองหนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน (Agricultural Industrial City) ผ่านการวางแผนการพัฒนาระยะยาว (Development Roadmap) ในกรอบเวลา 4 ปี พิจารณาจากแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้น นับเป็นแผนพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายอีกครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการดำเนินงานทุกอย่างจะทำสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หรือต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคเช่นใดอีก ทุกคนทุกฝ่ายคงต้องคอยติดตาม ตรวจสอบ ร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่จะส่งผลกระทบไปถึงการดำเนินชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม ไม่มากไม่น้อยย่อมต้องมี “แรงต้าน” เกิดขึ้นตามมาด้วยเสมอ สิ่งสำคัญย่อมอยู่ที่ “การบริหารจัดการ” หรือ “การทำความเข้าใจ” ให้เกิดขึ้นได้เช่นใด กับแผนสามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน “สุไหงโกลก-เบตง-หนองจิก” ซึ่งกลายเป็นกระแสที่มาแรงในเวลานี้