เสือตัวที่ 6 ผู้นำองค์กรทุกประเภท ต้องมีความเข้าใจว่า “ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้นั้น เป็นสินทรัพย์” และต้องสร้างเสริมทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้น ในฐานะของสินทรัพย์ขององค์กร ซึ่งไม่ใช่ต้นทุน นั่นก็หมายความว่า หากคิดว่าทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เป็นต้นทุนแล้ว นั่นเองจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า องค์กรจะต้องรัดเข็มขัด เข้มงวดในการควบคุมและตัดทอนต้นทุนการผลิตเหล่านั้นให้มีเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เป็นสินทรัพย์ขององค์กรเพราะเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้องค์กรอย่างมหาศาล เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นสินทรัพย์ขององค์กรที่จำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนเพื่อเพิ่มพูนให้มากขึ้นๆ อย่างไม่สิ้นสุด ประสิทธิภาพ ตามแนวคิดของ “ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์” (Peter F. Drucker) ชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 20 นั้น สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร ก็คือ เครื่องมือการผลิต (Production Equipment) ส่วนสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรทุกประเภทในศตวรรษที่ 21 ก็คือ คนทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ (Knowledge Workers) เพราะคนทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ จะนำมาซึ่งการเพิ่มผลผลิตขององค์กรอย่างมหาศาลนั่นเอง” ดรักเกอร์ เห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ความท้าทายที่สำคัญย่อมไม่ใช่การทำให้คนทำงานที่ใช้แต่แรงงานทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ความท้าทายที่แท้จริง ก็คือ “การทำให้คนทำงานที่มีความรู้ขององค์กรมีจำนวนมากขึ้น และใช้คนทำงานที่มีความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลิตผลให้องค์กรอย่างสูงสุด ดังนั้น การเพิ่มผลิตผลของคนทำงานที่มีความรู้ นับเป็นความท้าทายด้านการบริหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21” ดังนั้น “ทรัพยากรมนุษย์” ในองค์กร จะต้องลงทุนอย่างมากเพื่อให้ได้รับการพัฒนา “ความรู้และสร้างเสริมศักยภาพ” อย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้ในสมองของเขาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ผู้นำองค์กรต้องแปลงความรู้ในสมองของคนในองค์กรนั้นๆ ให้เป็น “สินทรัพย์อันมหาศาล” ให้เป็น “อาวุธอันทรงคุณค่า” เพื่อที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จที่ต้องการ การลงทุนพัฒนาความรู้และสร้างเสริมศักยภาพให้คนในองค์กร เป็นสิ่งที่ประเมินค่าอย่างการลงทุนอื่นๆ ไม่ได้ แม้ว่าจะมีความยากลำบากในการลงทุนเพื่อสร้างคนในองค์กรให้เป็นคนเปี่ยมด้วยความรู้ แต่ผู้นำที่ฉลาดก็จะไม่ลังเล แม้การลงทุนสร้างคนในองค์กรมีความรู้และศักยภาพที่ต้องการ จะเป็นการลงทุนที่อาจหวังผลในระยะสั้นไม่ได้ หากแต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้นำองค์กรต้องลงมือและกล้าลงทุน เพราะมูลค่าที่จะบังเกิดขึ้นกับองค์กรในระยะยาว จะมีมากมายมหาศาลเกินกว่าที่การลงทุนประเภทอื่นจะให้ผล ผู้นำองค์กรในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องเข้าใจว่า การลงทุนสร้างความรู้และเสริมศักยภาพให้คนในองค์กร จะบังเกิดผลสำเร็จให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางกายภาพอื่นที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ใดๆ และสิ่งสำคัญมากกว่าไปกว่านั้น ที่ผู้นำองค์กรสมัยใหม่ต้องทำต่อไปก็คือ การสงวนรักษาสินทรัพย์ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าเหล่านั้น ให้คงอยู่กับองค์กรให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการมีสิ่งจูงใจที่ตรงกับความต้องการของคนเหล่านั้นให้มากที่สุดซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้นำยุคใหม่ต้องทำให้ได้ และที่สำคัญที่สุดในการจูงใจให้ทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าเหล่านั้น ยังคงอยู่กับองค์กรอย่างเต็มใจ ก็คือ กรมอบงานที่ท้าทายให้คนเหล่านั้น ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา แก้ปัญหาที่ท้าทายไปสู่เป้าหมายปลายทางที่คาดหวังไว้ มากกว่าการมอบงานประจำที่ใครก็ได้สามารถทำได้อย่างคนทั่วไป เพราะทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า จะเปี่ยมด้วยพลังที่จะฟันฝ่าความท้าทายใหม่ๆ พวกเขาจะมีความสุขและผูกพันอยู่กับงานใหม่ๆ และยากๆ มากกว่างานประจำทั่วไปที่ใครก็ทำได้ คาร์ล ฟอน เคลาซวิทซ์” (Carl Von Clausewitz) ปรมาจารย์ด้านการทหารผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวเมือง BURG ของเยอรมันนี เขาเป็นผู้ที่นักการทหารทั่วโลกรู้จักและศึกษาแนวคิดของเขาผ่านทางงานเขียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาที่ชื่อ “สงคราม”(On War) เนื้อความที่สำคัญส่วนใหญ่ในหนังสือ “On War” กล่าวถึงนั้น ได้บ่งบอกให้ผู้นำกองทัพและองค์กรทั้งหลายตระหนักไปที่คุณค่าที่สัมผัสไม่ได้ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขวัญ กำลังใจ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และการอุทิศตนทั้งกายและใจของคนในองค์กรแล้ว ยังรวมถึง “ทรัพยากรมนุษย์ทางทหารที่ทรงความรอบรู้” ที่เรียกกันว่า “นักรบผู้รู้” หรือ “นักรบผู้ชาญฉลาด” (Knowledge Warrior) ด้วย นั่นก็หมายความว่า ทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงความรู้ของกองทัพ ย่อมมีความสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดสำหรับผู้นำทางทหารทั่วโลก เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสงครามย่อมเป็นเรื่องที่มีความไม่กระจ่างชัดเป็นธรรมดา เราย่อมไม่ทราบสถานะ และวิธีปฏิบัติ รวมถึง เจตจำนงของข้าศึกได้อย่างที่เราคาดหวัง ดังนั้นการแสวงหา “ความรอบรู้” ให้ตนเองและกำลังรบ(ทหารในกองทัพ) ด้วยการ“ติดอาวุธทางปัญญา” ย่อมนำพาให้กองทัพ สามารถฟันฝ่าความมืดมนเหล่านั้นไปได้อย่างทันเวลา ซึ่งผู้บัญชาการกองทัพต้องเข้าใจว่า “การสงคราม คือการผสมผสานซึ่งแนวคิด หลักการ และทฤษฎีการสงครามทั้งหลายเข้าด้วยกัน สิ่งสำคัญที่สุดในการสงครามก็คือ ความรอบรู้ของกำลังรบ และสามารถประยุกต์ใช้แนวคิด หลักการ และทฤษฎีเหล่านั้น ไปสู่การปฏิบัติเชิงศิลปะ เพื่อทำให้ข้าศึกพ่ายแพ้ในที่สุด” และนั่น คือสิ่งที่ผู้นำกองทัพควรตระหนักว่า ไม่มีอะไรในสงครามและการบริหารจัดการใดๆ ที่จะสำเร็จลงได้อย่างสมบูรณ์โดยปราศจากความเสี่ยง เพราะธรรมชาติของการต่อสู้ในทุกสมรภูมินั้น ไม่อำนวยให้เรามองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งได้ตลอดเวลา ดังนั้น “การติดอาวุธทางปัญญา” ให้กำลังรบในกองทัพทั้งหลาย ด้วยการพัฒนาคนให้มีความรอบรู้และส่งเสริมการศึกษาของกองทัพให้ทันสมัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในเชิงวัตถุ การบริหารจัดการ งบประมาณและองค์ความรู้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด สำหรับการปฏิบัติงานของโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้กองทัพสามารถรักษาความมั่นคงของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และที่ยากยิ่งก็คือการก้าวข้ามแนวคิดเดิมๆ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างและใช้นักรบที่ชาญฉลาด เพื่อเอาชนะในการต่อสู้บนพื้นที่ปลายด้ามขวานครั้งนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่แท้จริง