เสือตัวที่ 6 ด้วยสถานศึกษาเอกชนสอนศสานาอิสลามที่แปรสภาพจากปอเนาะเกิดขึ้นมาอย่างมากมายในช่วงหลังมานี้ รวมทั้งสถานศึกษาที่มีอยู่เดิมก็พยายามขยายฐานนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อแย่งชิงเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นนักเรียนในสถานศึกษาของตนให้มากที่สุด โดยให้ครูอาจารย์หรือบุคลากรในสถานศึกษา เป็นผู้ชักจูงบุตรหลาน ญาติพี่น้องเข้ามาเรียน รวมทั้งการส่งนักเรียนของสถานศึกษาของตน ที่เรียนศาสนาชั้นชานาวี (ชั้น 10) ไปเป็นอุสตาซ หรือ อุสตาซะ ไปทำหน้าที่สอนหนังสือตามโรงเรียนตาดีกาเครือข่ายในหมู่บ้านชุมชน เพื่อสอดแทรกชักชวนเด็ก เยาวชน หรือโน้มน้าวพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ให้เห็นพ้องในการส่งบุตรหลานของตนเข้ามาเรียนในสถานศึกษาของตน โดยมีแรงจูงใจจากความเชื่อถือ ศรัทธาในตัวอุสตาซ ที่แทรกซึมลงไปทำการตลาดถึงในหมู่บ้าน ร่วมกับแรงจูงใจให้เป็นค่าตอบแทนรายหัว ตลอดจนสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาบางแห่ง จะตอบแทนด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้กับคนในหมู่บ้านกู้ยืมเงิน มาใช้ในการจัดซื้อรถยนต์ส่วนตัวและใช้รับส่งนักเรียนระหว่างสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนากับหมู่บ้านอีกด้วย และเนื่องจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานเคร่งครัดในศาสนา เพราะมีความเชื่อถือ ศรัทธาต่อกลุ่มโต๊ะครูหรือครูสอนศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับเห็นว่า การศึกษาในสถานศึกษาทางศาสนาอิสลามดังกล่าวมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตอิสลาม และโอกาสในการเข้าถึงสถานศึกษาดังกล่าวมีมากกว่าสถานศึกษาของรัฐสายสามัญของรัฐทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้เปิดโฮกาสให้ขบวนการได้มีการสอดแทรกเข้ามาแสวงประโยชน์จากการที่สถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่ ให้เป็นแหล่งศูนย์รวมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ในการสร้างสมาชิก หรือแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งดังกล่าว เป็นสถานที่ในการหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิด ความเชื่อ อย่างเป็นระบบ จนเป็นการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ และด้วยความเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ทำให้สถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดศูนย์ดุลที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถเข้าถึงสถานศึกษาเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง ในขณะที่สถานศึกษาเอกชนสอนศสานาอิสลาม กำลังได้รับความนิยม เชื่อถือจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างสูง จึงมีความไว้วางใจที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่าสถานศึกษาในระดับเดียวกันซึ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่เรียนในสถานศึกษาของรัฐที่แม้จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบสายสามัญควบคู่กับสายศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ระดับอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย มีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 รวมถึงการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีกลยุทธ์ เป้าหมายชัดเจนในการดำเนินการ เพื่อการแข่งขันให้อยู่รอดในธุรกิจการศึกษาในพื้นที่ ได้ส่งผลให้สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีความเข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่สถานศึกษาในระดับเดียวกันที่เป็นของรัฐเกือบทุกแห่งกลับอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ด้วยมีจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษาของรัฐ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้ได้สะท้อนค่านิยมและแนวคิดของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีว่า คนในพื้นที่กำลังนิยมชมชอบสถานศึกษาในแบบใดและกำลังคิดและอาจจะมีแนวโน้มพฤติกรรมไปในทางที่อาจเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงของชาติในที่สุด สถานศึกษาของรัฐที่จัดการเรียนการสอนแบบสายสามัญควบคู่กับสายศาสนา ซึ่งควรจะเป็นแหล่งที่จะเริ่มต้นสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ปูพื้นฐาน สร้างจิตสำนึกของความเป็นชาติในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมตามแนวทางของรัฐบาลได้ เพราะจะเป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั้งพุทธและมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันและมีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินชีวิต ทัศนคติ หากสถานศึกษาของรัฐเกือบทั้งหมดในพื้นที่ กลับต้องเผชิญกับสภาวะที่อ่อนด้อยกว่าสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่อยู่หลายประการ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นคงในอนาคตของชาติที่มุ่งประสงค์ที่จะผนึกกำลังทุกภาคส่วนของชาติ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามแนวทางสันติวิธี ด้วยแนวคิดพหุวัฒนธรรมได้ในที่สุด ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ของความอ่อนแอของสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แล้วบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ และกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์ เป็นระบบ ต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับมาเข้มแข็ง เป็นสถานที่สำคัญในการหล่อหลอมการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันของเด็กและเยาวชนแม้จะมีความเชื่อความศรัทธาในหลักศาสนาที่แตกต่างกัน หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันแบบมิตรภาพอย่างเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างคนในชุมชนและสังคมแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีต่อไปในอนาคต การฟื้นฟู สร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการเรียนการสอนแบบสายสามัญควบคู่สายศาสนา เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองบุตรหลานในพื้นที่ ในการตัดสินใจส่งบุตรหลานของตนเข้ามารับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นคำตอบสำคัญในการก่อให้เกิดการยอมรับความเป็นพหุวัฒนาธรรมให้คนในอนาคตได้เป็นอย่างดี ที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งแสวงหาแนวทางให้สถานศึกษาของรัฐ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นตัวจักรสำคัญในการหล่อหลอมกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น อย่างมีพลังเยาวชน รวมทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านั้น โดยมุ่งให้สถานศึกษาของรัฐมีความเข้มแข็ง เป็นแหล่งผลิตมวลชนให้กับภาครัฐ อันจะทำให้การนำสันติสุขมาสู่พื้นที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ตามแนวทางพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ผู้ก่อความไม่สงบแนวคิดสุดโต่ง จำเป็นต้องยุติการใช้อาวุธ กลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมที่มีสถานศึกษาของรัฐเป็นต้นกำเนิดพหุวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมที่แท้จริง