ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ชายหนุ่มวัย 32 ปี ชาวบ้าน ต.สะนอ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เดือนมกราคม พ.ศ.2551 ขณะนั้นเขากำลังศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขาถูกส่งเข้าเรือนจำกลางจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2551 ต้องจำทนใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 7 ปี ถึงได้รับอนุญาตประกันตัวเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2553 ด้วยหลักทรัพย์ 800,000 บาท โดยได้รับการช่วยเหลือการประกันตัวจากกระทรวงยุติธรรม หลังได้รับอิสรภาพ “นายซาบรี กาซอ” กลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด ผ่านไปเพียง 4-5 เดือน ในที่สุดเขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง ด้วยการย้ายไปหาบ้านเช่าและหางานทำเลี้ยงชีพที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากอยู่บ้านเดิมไม่ได้เพราะถูกคุกคามบ่อยครั้ง บ้างต้องถูกเชิญตัวไปพูดคุย ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจถึงความปลอดภัย หวาดระแวง และหวาดกลัว ทุกวันนี้เรื่องคดีความของเขา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ทำให้รู้สึกสบายใจมาก และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ประกอบกับการได้พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดสงขลาซึ่งสถานการณ์แวดล้อมไม่กดดันเหมือนที่บ้านเกิด แต่แท้แล้ว ในใจนั้นอยากกลับไปอิงอุ่นที่บ้านเกิดเช่นก่อนเก่า อีกเรื่องราวหนึ่งเริ่มต้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง กับครอบครัวเล็กๆ ที่เคยอยู่อาศัยกันด้วยความอบอุ่นภายใต้อาณาบริเวณของปอเนาะ ต.กอลำ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมส่งผลสะเทือนต่อสมาชิกในครอบครัวและชุมชนอย่างรุนแรง กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 เป็นเดือนแห่งอิสรภาพของชายคนหนึ่ง หลังเขาถูกคุมขังเป็นเวลานานกว่า 10 เดือน ขณะนั้นคดียังไม่ได้สิ้นสุด แต่ท้ายสุดศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2554 เขาได้รับอิสรภาพแล้ว แต่ชีวิตที่เหลืออยู่กลับเหมือนล่องลอยไปตามกระแสชะตากรรม โดยมิอาจทราบเลยว่า เหตุการณ์ร้ายๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของใครหรือฝ่ายใด “คอเละ วาโด” กลับมาประกอบอาชีพแถวบ้านแบบชาวบ้านปกติ เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพครอบครัว แบ่งเบาภาระหลานๆ ที่กำพร้าเนื่องจากเสาหลักที่จากไปด้วยสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ถึงแม้คดีสิ้นสุดแล้ว หากทว่าครอบครัวและภรรยายังมีความรู้สึกเป็นห่วงถึงความไม่ปลอดภัย เนื่องจากครอบครัวที่อยู่ในขอบรั้วเดียวกันที่เรียก “ครอบครัวปอเนาะปูลาฆาซิง” มีเครือญาติสนิทถูกลอบทำร้ายเสียชีวิตถึง 2 คนด้วยกัน คนแรกมีฐานะเป็น “พี่เขย” คนที่สอง คือ “โต๊ะครู” เจ้าของปอเนาะ ซึ่งเป็นอาของภรรยา ชะตาชีวิตของผู้ตกเป็น “เหยื่อ” จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีหลายกรณีที่เป็นชะตากรรมซ้ำซ้อน ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิด หลายคนบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จาก 2 ตัวอย่างข้างต้นที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอให้เห็นภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง เป็น 2 ใน 8 เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือ “ชีวิตหลังอิสรภาพ” ซึ่งมีที่มาที่ไปน่าสนใจยิ่ง กลุ่มเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ล้วนเคยตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ JUSTICE FOR PACE หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า JOP เป็นเครือข่ายจากการรวมกลุ่มกันของผู้ตกเป็นผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี และในคดีที่สิ้นสุดแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดยะลา และผู้ที่เคยถูกจองจำอยู่ในเรือนจำยะลา เพื่อนำประสบการณ์ที่พบเจอเกี่ยวกับขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ไปถ่ายทอดแนะนำกับกลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอำนวยการเข้าถึงความยุติธรรม ในคำนำหนังสือชีวิตหลังอิสรภาพ สะท้อนเรื่องราวอันน่าสนใจว่า ทางกลุ่มเชื่อว่าการสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริง เป็นหัวใจสำคัญของผู้ตกเป็นจำเลย จึงพยายามหาช่องทางช่วยเหลือให้ความรู้แก่ผู้ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เช่น ริเริ่มจัดเวทีอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายและขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีการพบปะพูดคุย สะท้อนสภาพปัญหาที่ประสบภายหลังออกมาจากเรือนจำ และใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านปกติด้วย ต่อมาจึงนำมาซึ่งการก่อตั้งเครือข่ายอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2554 อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเครือข่ายได้สูญเสียสมาชิกจากการถูกลอบทำร้ายโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย ทำให้หลายคนถึงขั้นเสียชีวิต พิการทุพลภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กระทั่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถรู้เบาะแสหรือจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทำให้สมาชิกเกิดคำถามถึงความไม่ปลอดภัย ความยุติธรรม ความไว้วางใจ และมีอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันมา เช่น การที่สมาชิกเครือข่ายถูกคุกคาม จับซ้ำซ้อน ฯลฯ สะท้อนถึงความไม่ปลอดภัย ความหวาดระแวงในการดำเนินชีวิต การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงสภาพจิตใจภายใต้ความกดดันที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบถึงทั้งเจ้าตัว ครอบครัว และบุคคลรอบข้าง ห้วง พ.ศ.2558 ช่วงเดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม ทางเครือข่ายได้ดำเนินกิจกรรม “โครงการสานสัมพันธ์สู่ชุมชนเพื่อสันติ” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้รับกำลังใจจากผู้นำและชาวบ้านในพื้นที่ ที่เครือข่ายลงพื้นที่ทำกิจกรรมพัฒนาสถานที่สาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจแนวทางการทำงานของเครือข่าย JOP ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการข้างต้น วันที่ 18–20 กันยายน พ.ศ.2558 ได้มีโครงการถอดบทเรียนการทำกิจกรรม ณ จังหวัดสตูล โดยทั้ง 2 โครงการได้รับการสนับสนุนจาก “มูลนิธิเอเชีย” กระทั่งนำไปสู่การดำเนินงานโครงการใหม่ คือ “โครงการสื่อหนังสือภาพ” ที่มุ่งสื่อสะท้อนถึงความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของสมาชิก การขับเคลื่อนเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ และถ่ายทอดชีวิตภายหลังได้รับอิสรภาพด้วยสื่อภาพ ทั้งนี้ทางกลุ่ม JOP ยืนยันชัดเจนว่า การจัดทำหนังสือครั้งนี้มิใช่ต้องการปรักปรำฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ได้กล่าวหาบุคคลหนึ่งบุคคลใด หากทว่าเป้าหมายที่แท้จริง คือการสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นธรรม รวมถึงชะตากรรมที่ทุกคนได้รับจาก “เหตุการณ์ความไม่สงบ” ที่เกิดขึ้นมายาวนาน อย่างน้อยเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางป้องกัน และที่สำคัญคือการแปรเป็นความเข้าใจและร่วมมือกันแผ้วถางเส้นทางสู่ “สันติสุข” ร่วมกัน