ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ บางทีบางครั้งคำว่า “สันติภาพ” เปรียบไปแล้วมันก็คงเหมือนการกินข้าว คือ กินทุกวัน อิ่มทุกวัน แต่พอผ่านวันไปก็กลับมาหิวอีก คำสันติภาพก็เช่นเดียวกัน เราพูดถึง กล่าวถึง ฝันถึง แต่พอเกิดขึ้นจริงได้ไม่นาน เพียงข้ามวัน ภาพสงคราม การทำร้ายเข่นฆ่ากัน ก็กลายเป็นภาพความจริงแสนเจ็บปวดมาแทนที่ภาพฝันที่โหยหา แถมบางสถานที่ผู้คนที่แสวงหายังไม่เคยเจอสถานภาพของคำว่า “สันติภาพ” ด้วยซ้ำ ประวัติศาสตร์พื้นที่ “ชายแดนใต้” กลายเป็นภาพซ้อนสลับกันระหว่าง “ความจริง” กับ “ความฝัน” มายาวนาน โดยเฉพาะความจริงในรอบไม่กี่ปีมานี้ ได้กลายเป็นลิ่มตอกตรึงสร้างรอยร้าวลึกให้แก่ผู้คนต่างชาติพันธุ์ ต่างศรัทธาความเชื่อ และเป็นม่านอคติที่ค่อยๆ บดบังความเป็นมนุษย์ของผู้คนไปทีละนิดๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แตกแขนงกลายเป็น “สงคราม” ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ขยายความร้อนแรงลามเลียไปถึงนานาประเทศที่จับตาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะด้วยตัวเลขผู้สูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย หลายคนกลายเป็นเด็กกำพร้า สตรีหม้าย ฯลฯ มีจำนวนหลักหลายหมื่นจนถึงหมื่น แสน และผู้พลอยได้รับผลกระทบกลายเป็นความกดดันของชีวิตที่ต้องสะเทินกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของชีวิตอีกนับเป็นล้านคน นานมาแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพรักท่านหนึ่งเปรยให้ฟังเสมอว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ คงยากที่จะยุติลงได้ง่ายๆ ประการสำคัญ คงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะจำแลงกายกลายเป็น “อัศวินม้าขาว” เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์เลวร้ายนี้ให้ปลาสนาการไปได้ ถึงที่สุดแล้วทุกคนทุกฝ่ายต้องลงมือช่วยกอบกู้สถานการณ์ร่วมกัน แม้จะใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ไม่เหมือนกัน เป็นไปคนละแนวทางวิธีการหรือวิธีคิด แต่ท้ายสุดแล้วย่อมเปรียบเช่นเม็ดทรายนับหมื่นแสนล้านๆ เม็ด ต่างชนิดต่างขนาด ที่ทอดตัวเรียงรายกระจัดกระจายกัน แต่เมื่อมีการประสานสมกัน ย่อมจะสามารถผนึกแน่นกลายเป็นกำแพง เป็นโครงสร้าง เป็นหลังคา กระทั่งในที่สุดสามารถประกอบรวมขึ้นจนกลายเป็น “บ้าน” ที่แสนอบอุ่นได้ในที่สุด เช่นเดียวกันกับผู้คนต่างคนต่างอยู่ ต่างชาติพันธุ์ต่างศาสนาความเชื่อ แต่สามารถหลอมรวมหัวใจอยู่ด้วยกันในชุมชนสังคมหนึ่งๆ อย่างสงบสันติ ที่มาที่ไปของงานมหกรรมศิลปะ ดนตรี กวี ภาพถ่าย และหนังสั้น “เรายังฝันถึง... สันติภาพ” ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ร่วมกับ จังหวัดนราธิวาส ททท. สำนักงานนราธิวาส นิตยสารหัวใจเดียวกัน ผจญภัยสำนักพิมพ์ บางนราสำนักพิมพ์ กลุ่มเฌอบูโด กลุ่มยังยิ้ม ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติ จชต. ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2559 ที่จะถึงนี้ ณ โรงเรียนนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นไปภายใต้แนวคิดเช่นที่กล่าวไว้ คือ เป็นอีกกิจกรรมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการหลอมรวมคนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน สะท้อนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการประกวดภาพถ่าย ภาพวาด และบทกวี การแสดงภาพศิลปะ ภาพถ่าย การเล่นดนตรี อ่านบทกวี และฉายภาพยนตร์สั้นชุด “แสงใต้” การเสวนา/เวิร์คช็อป/สาธิตการวาดภาพ โดยชื่องานและโลโก้งาน ตั้งและออกแบบโดย วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินรางวัลศิลปาธร ส่วนของงานศิลปะ แกนหลักคือการแสดงภาพศิลปะชุด “จักรยานเร่ วาดทะเลสองฝั่ง” โดย ประสาท นิรันดรประเสริฐ ร่วมกับศิลปินในพื้นที่ เช่น อ.แวอารง แวโนะ อ.รุซณี ซูสารอ สุไลมาน ยาโม ฯลฯ ส่วนภาพถ่ายชุด “เรายังฝันถึง...สันติภาพ” ประกอบด้วยช่างภาพทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น จรูญ ทองนวล (เครือเนชั่น) ภาคภูมิ ประทุมเจริญ (โต โต้ คน ค้น ฅน) ปรีดา เทียนส่งรัศมี ปรมินทร์ นาทองเจริญสุข เกริ่น เขียนชื่น มาฮามะยากี แวซู มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง ฯลฯ ที่สำคัญ คือ ส่วนของกวี/นักเขียน เช่น จเด็จ กำจรเดช นักเขียนซีไรต์ อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์ ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลศิลปาธร อ.นิพนธ์ รัตนพันธ์ (สายธารสิโป) ฯลฯ นักดนตรี/ศิลปิน ทั้งศิลปินพื้นบ้าน และดนตรีสากล เช่น ดนตรีพื้นบ้าน “เปอร์มูดาอัสลี” สิละคณะ “PerSHap” ดิเกร์ฮูลูเยาวชนเฌอบูโด พยัต ภูวิชัย เซอร์แมนติก วาบูแล : เร้กเก้มลายู ฯลฯ และภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับสันติภาพชุด “แสงใต้” โดยกลุ่มเยาวชนและผู้ผลิตภาพยนตร์มืออาชีพ จเด็จ กำจรเดช หนึ่งในนักเขียนซีไรต์ที่เดินทางมาร่วมงานสำคัญครั้งนี้ เขียนกวีบทหนึ่งชื่อ “คงเหลือใครสักคนไว้ฟังเพลง” ว่า ฉันจะสร้างกีตาร์สักตัวในเมืองนี้ เดินหาไม้ในซากตึกไหม้ไฟ เลือกได้กิ่งไม้ท่อนหนึ่งที่หักโค่นจากแรงระเบิด หาไม้อีกสองชนิดเพื่อประกบให้ได้เนื้อสีและลวดลายต่างกัน คุ้ยหาหัวน๊อตและตะปูเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ฉันจะต้องหาเลื่อยหรือมีดหรือดาบถากไม้และตัดแต่งเป็นทรง หาเศษสายไฟที่หลงเหลือในซากรถมารอไว้ จะมีลวดอะไรทำสายทั้งหกได้ดีกว่าลวดหนามพวกนี้นะ สีสเปรย์เกลื่อนถนนยังพอเหลือให้พ่นหลังขึ้นรูปเสร็จ อีกสามสี่เดือนคงจะหาสายลวดครบทั้งหกเส้น  อีกหกเดือนคงเสร็จและตั้งสายได้ นิ้วฉันเหลือข้างละสองนิ้วคงพอเล่นได้เป็นบางเพลง ฉันจะหาใครในเมืองนี้มาฟังได้สักคนไหม เมื่อมนุษย์ยังฝันถึงสันติภาพ สิ่งสำคัญคือการที่ทุกคนต้องหาโอกาส ช่วยกันลงมือทำงานสร้างสรรค์ อย่าปล่อยเพียงให้กระแสลมพายุโหมพัด พากรวดทรายเม็ดร้าวเคลื่อนไปอย่างไร้ทิศทางบนโลกอันแสนเดียวดาย “ชีวิตและชะตากรรม” ก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นทุกคนที่ต้องกุมชะตาตนเอง มิใช่รอเพียง “ลมลวง” จากใคร