ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ข่าว “21 หญิงไทย” ที่ถูกจับกุมขณะเดินทางไปค้าแรงงานผิดกฎหมายในรัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของประเทศมาเลเซีย สะท้อนปมปัญหาที่สลับซับซ้อนอีกครั้ง โดยเฉพาะในฐานะผู้ตกเป็น “เหยื่อ” จากข่าวความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลพวงจากสถานการณ์นอกจากส่งผลด้านลบต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ และผู้คนส่วนหนึ่งต่างพยายามดิ้นรนให้พ้นภัยด้วยการแสวงหารายได้ช่องทางอื่นเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่ในที่สุดก็กลายเป็นว่าตัวเองต้องกลายเป็น “เหยื่อ” ของผู้คนอีกประเภทหนึ่ง กรณีลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป หากสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยเดินทางไปเก็บข้อมูลคนไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะที่เปิดร้านอาหารประเภทที่เรียกกันว่า “ร้านต้มยำกุ้ง” ปรากฏว่าพบพี่น้องมุสลิมจากพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนมากกระจายอยู่ในแทบทุกรัฐ ที่ตัดสินใจบากหน้าไป “ขุดทอง” หรือยอมเผชิญสถานการณ์กดดันหลายอย่าง แม้หลายคนจะสร้างผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการส่งเงินมาให้ครอบครัวหรือถึงกับสร้างบ้านในถิ่นเกิดหลังใหญ่โต เช่นที่ชุมชนบราโหม หรืออีกหลากหลายที่ แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เพราะอยู่ในสถานะ “แรงงานผิดกฎหมาย” ถึงกับเป็นตำนานเรื่องเล่าว่าหลายคนต้องกระโดดหนีไปซุกตัวอยู่ในน้ำคร่ำคูคลองเป็นคืนเมื่อเจ้าหน้าที่มาเลเซียมาตรวจค้น หรือถูก “มาเฟีย” ในพื้นที่เรียกเก็บเงินส่วยคุ้มครอง หรืออีกกรณีที่เคยเป็นข่าวใหญ่โตระยะหนึ่ง คือการที่วัยรุ่นหรือคนทำงานจากชายแดนใต้ไปเปิดร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ซึ่งมักจะต้องมีการจับกลุ่มเพื่อดูแลช่วยเหลือกัน หรือเปิดร้านค้าใกล้ๆ กันจนเป็นชุมชนคนไทยในมาเลเซีย กลับถูกหน่วยงานความมั่นคงของไทย มองว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ส่งเงินมาสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ กลับมาที่เรื่องราวของ 21 หญิงไทยที่ถูกทางการมาเลเซียจับกุมตัวในครั้งนี้ แม้เป็นโชคดีที่หน่วยงานภาครัฐของไทย ทั้งเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือกระทรวงยุติธรรม ได้เร่งรุดไปประสานงานให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว พร้อมกับติดตามที่มาของเรื่องราว โดยเฉพาะคนที่เป็น “นายหน้าค้ามนุษย์” แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีปัญหาครั้งนี้ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนมากพื้นเพเดิมเป็นคนปัตตานี รองลงมาคือ ยะลา และสงขลา ส่วนใหญ่เป็น “ผู้สูงอายุ” บางรายมีอายุมากถึง 80 ปี คำถามคือ อะไรเป็นเหตุจูงใจให้คนเหล่านี้ต้องดิ้นรนไปเผชิญชะตากรรมนอกถิ่นเกิด และขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นในพื้นที่ชายแดนใต้ในลักษณะนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มหรือไม่ เพราะข่าวคราวการตกเป็นเหยื่อของขบวนการต้มตุ๋นเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ การเก็งกำไรสินค้า ฯลฯ ว่าไปแล้วคงต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลถึงสถานภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงมาแล้วหลายครั้งว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางหรือราคาผลไม้ตกต่ำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด พอมีปัญหาเรื่องราคาผลไม้ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด ทุเรียน ฯลฯ รวมถึงราคาข้าว กุ้ง หรือปาล์มน้ำมัน ก็ดูเหมือนทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะลงมือทำงานอย่างจริงจังครั้งหนึ่ง พากันเดินสายไปมอบนโยบายแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ เรียกว่ามีปัญหาทีก็มาแก้กันที เป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ณ เวลานี้คือ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งว่ากันว่าปัญหายาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมือง คอร์รัปชั่นเกลื่อนในวงราชการ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ฯลฯ ปัจจัยทุกอย่างล้วนเป็นตัวแปรส่งผลต่อศรัทธาในรัฐ ขณะถูกซ้ำเติมจากค่าครองชีพที่มีแต่สูงขึ้น แต่รายได้หดหาย แถมผีซ้ำด้ำพลอยคนชายแดนใต้ไม่อาจใช้วิถีชีวิตประจำวันอย่างปกติเช่นพื้นที่อื่นๆ ด้วยมิรู้ว่าจะมีระเบิดหรือถูกทำร้ายจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีเมื่อไร กลายเป็นว่าเงื่อนไขเรื่อง “ปากท้อง” เป็นเงื่อนปมสำคัญหนึ่งของพี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลต่อเนื่องเป็นดอมิโนลูกโซ่ต่อปัญหาการเกิดความไม่สงบ ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่พูดกันมานานเกี่ยวกับ “ความหลากหลาย” ภายใต้บริบทประวัติศาสตร์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส อาณาบริเวณร่วม 10,927 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึงประมาณ 2 ล้านคน พื้นที่ “พิเศษ” แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นยิ่ง ทั้งลำธาร แม่น้ำ ป่าไม้ ขุนเขา ทะเล ฯลฯ ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นและแตกต่างไปตามสภาพ “ยะลา” เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่มีจุดเด่นเรื่องการวางผังเมืองที่มีความสวยงามมาก ขณะที่ “ปัตตานี” มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบชายฝั่ง มีแม่น้ำหลายสาย และลำน้ำเล็กๆ อีกมากมาย จุดโดดเด่นเป็นเพราะปัตตานีตั้งอยู่ฝั่งปากแม่น้ำปัตตานีทำให้มีสภาพที่เอื้อแก่การเป็นเมืองท่าที่ดี เหมาะแก่การทำการค้าขาย สำหรับ “นราธิวาส” เมืองใต้สุดของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าไม้ 2 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีลำน้ำสำคัญของจังหวัด 4 สายด้วยกัน ไม่นับรวมกับพื้นที่ต่อเนื่องใน “สงขลา” ซึ่งมีความหลากหลายอีกลักษณะหนึ่ง ลักษณะภูมิศาสตร์และธรรมชาติอันงดงาม มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่น ทำให้การประกอบอาชีพในพื้นที่มีหลายหลาก ทั้งจากการอาศัยทรัพยากรตามธรรมชาติโดยตรง หรือการเพิ่มพูนคุณค่าที่เป็นผลพวงจากธรรมชาติที่สวยงาม อาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จึงเป็นอาชีพที่ผูกพันอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชาวสวน ชาวไร่ ยางพารา หรืออาชีพประมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนชายแดนใต้ก็มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างรายได้อยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ลองกอง เงาะ ทุเรียน มังคุด หรือยางพารา หากเราเชื่อว่าพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ขุมทรัพย์ชีวิตคือท้องทะเลและสวนผลไม้ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแบบสวนสมรมผสมผสานหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สวนดูซง” มีการปลูกต้นไม้ในลักษณะผสมผสานหลายแบบจนกลายเป็นคลังอาหารประจำวันในชีวิต แต่เมื่อชีวิตจำเป็นต้องเดินด้วยปากท้อง โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีสมาชิกครอบครัวจำนวนมากและค่าครองชีพที่มีแต่ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนผลไม้หรือ “พืชเชิงเดี่ยว” บ้าง ดังเช่นยุคสมัยหนึ่งเมื่อลองกองซึ่งเป็นผลไม้โด่งดังของนราธิวาสราคาแพง ผู้คนพากันตัดโค่นต้นเงาะ ทุเรียน มังคุด หรือยางพารา ลงจนเหี้ยนเตียนแล้วปลูกพืชพันธุ์ใหม่ตาม “ตลาด” ปรารถนา นั่นคือหันมาปลูกต้น “ลองกอง” แต่เมื่อยางพารากลับมามีราคาดีผู้คนก็หวนกลับมาปลูกต้นยางพารากันใหม่ มิพักต้องไปหวนพินิจว่าผู้คนจะพากันตัดโค่นต้นเงาะ ทุเรียน มังคุด ลงไปอีกกี่มากต้น จำนวนนี้ไม่รวมถึงที่ถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีโค่นทิ้งทำลายไป กระทั่งวันหนึ่งเงาทะมึนของวิกฤติราคาผลไม้ก็เกิดขึ้น เมื่อผลไม้จากเมืองจันทน์ ตราด รวมถึงแถบหลังสวน ชุมพร สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด รวมถึงลองกอง เข้าครอบครองตลาดผลไม้ส่วนใหญ่ และให้ผลิตผลก่อนผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลายเดือน ทำให้ราคาผลไม้เริ่มตกลงๆ จากร้อยเป็นไม่กี่สิบ จากหลักสิบเหลือ “ไม่ถึงสิบ” ต่อกิโลกรัม แถมยังรุกรานไปครองส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย “เดิมผลไม้ในพื้นที่ยังพอมีราคา โดยเฉพาะช่วงยังไม่เกิดเหตุการณ์ด้วยความสมบูรณ์และความโด่งดังของลองกองพื้นถิ่น ทำให้มีพ่อค้าผลไม้จากทั่วประเทศพากันเดินทางมาซื้อผลไม้ล็อตใหญ่จากพื้นที่เพื่อไปจำหน่ายต่อในที่อื่นๆ แต่จนทุกวันนี้เหตุการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว” เจ้าของสวนผลไม้ระดับมือรางวัลในพื้นที่ระบายความในใจ เช่นนี้แล้วจึงเกิดคำถามว่า รัฐจะเข้าไปเยียวยาดูแลปัญหาทั้งมวลแต่ต้นทางได้เช่นใดบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านตกเป็น “เหยื่อ” ซ้ำซ้อน บางคนอาจมองว่ารูปแบบ “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ถึงกันในลักษณะเครือข่าย ประกอบด้วย เมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ (International Border Trade City) เมืองเบตง จ.ยะลา พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และเมืองหนองจิก จ.ปัตตานี พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน (Agricultural Industrial City) ผ่านการวางแผนการพัฒนาระยะยาว (Development Roadmap) ในกรอบเวลา 4 ปี คือ “คำตอบ” สำคัญที่ต้องติดตามตรวจสอบกันอย่างใกล้ชิดนับจากนี้ไป