รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 เป็นต้นมา ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และเดือน เม.ย. เป็นช่วงที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันแตะทะลุมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนถึง ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีที่จะสิ้นสุด สาเหตุหลักที่ปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนแบบสุด ๆ ก็เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง

ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติที่เป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง เนื่องจากกระแสน้ำอุ่นกระจายออกกว้างกว่าเดิมและจะอยู่ใกล้กับผิวน้ำมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้มีการปล่อยความร้อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำให้อากาศชื้นขึ้นและร้อนขึ้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น

แม้ว่าไม่กี่วันมานี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียออกมาเปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2566 ได้สิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ความร้อนยังถูกส่งต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 นี้ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และยังไปซ้ำเติมภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ทำให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้ตามปกติส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นและสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2567 (2 เดือน) พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) ไปแล้ว 30 คน สูงกว่าปี 2566 ที่ผ่านมาถึง 2 เท่า โดยช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2566 (4 เดือน) พบว่าคนไทยถูกฮีทสโตรกพรากชีวิตอยู่ที่ 37 คนเท่านั้น

สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้สึกร้อนมากหรือร้อนน้อย ไม่ได้มองกันที่ตัวเลขอุณหภูมิอย่างเดียว แต่ต้องดูค่า “ดัชนีความร้อน (Heat Index)” หรืออุณหภูมิที่ผู้คนรู้สึกได้ในขณะนั้น (Apparent Temperature) ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร ซึ่งคำนวณจากอุณหภูมิอากาศ (Air Temperature) และเปอร์เซ็นต์ของความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity%) เช่น อุณหภูมิวัดได้อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 35% ค่าดัชนีความร้อนจะเท่ากับ 54 ซึ่งจะทำให้คนเป็นฮีทสโตรกในทันที ค่าดัชนีความร้อนจึงนำมาใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับจากผลกระทบของความร้อน

จากอุณหภูมิความร้อนที่สูงเกินพิกัดผสมกับดัชนีความร้อนที่คุกคามต่อสุขภาพและชีวิตของคนไทยโดยตรงแล้ว เมื่อหันมามองการเมืองไทยก็บอกได้เหมือนกัน “เป๊ะ” ว่า อุณหภูมิการเมืองไทยก็ร้อนไม่แพ้อากาศร้อนช่วงเดือนเม.ย. ซึ่งผลงานรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ผ่านมาดูแล้ว “ประชาชน” ก็ยังไม่แฮปปี้เท่าไหร่นัก สะท้อนจากภาพรวมคะแนนดัชนีการเมืองไทยของสวนดุสิตโพล ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาคะแนนก็ยังดีดไม่ค่อยจะขึ้น

การเมืองไทยดูทรงแล้วก็คงจะร้อน ๆ เย็น ๆ หนาว ๆ เป็นระยะ ๆ แบบต่อเนื่อง เพราะ “พรรคใหญ่” ยึดธรรมเนียมปฏิบัติการบริหารบ้านเมืองว่าจะต้องมีการปรับ ครม. ทุกรอบ  6 เดือน เพื่อเป็นการต่างตอบแทน “มากกว่า” การพยายามสร้างผลงานให้เข้าตายิ่งขึ้นแบบจัดวาง “คน” ให้ถูกที่ถูกทาง ทำให้ตลอดช่วงปลายสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเม.ย. จึงเห็นสภาพ “ฝุ่นตลบ & ควันฟุ้ง” และสุดท้ายก็มาจบตรงที่ “นาย-ก-เทวดา” เคาะครั้งสุดท้ายแบบ(ไม่)ลับที่โฮเต็ลย่านสุขุมวิท

ในที่สุดวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. ทุกอย่างก็กระจ่างชัดเจน “จบยกที่ 1” เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี

การโปรดเกล้าฯ ประกาศการปรับ ครม. อย่างเป็นทางการเตรียมเข้าสู่โหมด “รัฐบาลเศรษฐา 1/1” ทำให้บรรดาคอการเมือง สภากาแฟ นักรัฐศาสตร์ และนักวิชาการ ต่างออกมาวิพากษ์กันสนั่นโลกออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการปรับออก “รมว. สาธารณสุข” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้เคยเป็นด่านหน้าและตัวแทนรับเสียงก่นด่าช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1  

ส่วนกรณีที่ทำให้การเมืองร้อนแรงทะลุไปมากกว่าเดือดจนประชาชนรู้สึกสัมผัสได้ในขณะนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็น  “Political Heat Index” หรือ “ดัชนีร้อนการเมือง” คงต้องยกให้กรณีการลาออกแบบทันทีของ ‘นายปานปรีย์ พหิทธานุกร’ ซึ่งควบตำแหน่ง “รมว. ตปท.” และรองนายกฯ แต่ถูกปรับลดเหลือเพียงตำแหน่งเดียวหลังมีการโปรดเกล้าฯ เท่ากับ “ตบหน้า”
ใครบางคนเป็นหรือไม่คงต้องจับตาดูกัน!!!

สำหรับผลลัพธ์และผลกระทบของการปรับ ครม. เศรษฐา 1/1 ต้องยอมรับว่ามีทั้งสมหวัง ผิดหวัง และอกหักซึ่งอาจจะนำไปสู่ความร้อนแรงทางการเมืองในยกถัด ๆ ไป และที่สำคัญย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมความแข็งแกร่งของ“รัฐบาลเศรษฐา 1/1” แน่ ๆ ต่อจากนี้คงต้องเพ่งพินิจที่ผลงานของรัฐบาล (เก่า) ในขวดใหม่กันรัว ๆ แล้วครับ...