ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร.9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ทุกพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารและชนบทห่างไกล โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากพระวรกายพร้อมทั้งทรงมีพระราชดำริ พระราชเสาวนีย์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเมตตาคุณและน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยความห่วงใย เอื้ออาทรตลอดมา ในที่สุดจึงเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมแล้วนับร้อยโครงการ วารินทร์ บุษบรรณ ที่ปรึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วุฒิอาสาธนาคารสมอง ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำจังหวัดนราธิวาส ประธานมูลนิธิพัฒนาเกษตรอนามัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยบอกเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ทรงริเริ่มโครงการแบบที่เรียกได้ว่า "ครบวงจร" ที่สำคัญคือ1.การแก้ปัญหาความยากจน 2.การแก้ปัญหายาเสพติด การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ4.การบริการประชาชน 5.การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ มุ่งแก้ปัญหาความยากจน นอกจากนี้ เมื่อจะเสด็จนิวัตพระนคร ก็จะทรงเรียกผู้ที่ได้รับใช้ถวายงานเข้าเฝ้า ทรงขอบใจที่ได้ช่วยถวายงานพร้อมกับฝากช่วยดูแลสานงานต่อด้วยเช่นที่ครูธีรพจน์ หะยีอาแว "ล่ามภาษามลายู" ประจำขบวนเสด็จฯ ย้อนความหลังว่า ทรงรับสั่งเป็นประจำทุกปีว่า เวลาพระองค์ท่านไม่ได้ประทับอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ให้ช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่แทนด้วย จะฝากฝังให้ช่วยดูแลโครงการต่างๆ หรือไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจชาวบ้าน "จากพระราชกระแสรับสั่ง ก็คิดว่าเราน่าจะไปเยี่ยมชาวบ้านในเขตโครงการพระราชดำริหรือถิ่นทุรกันดาร อาจไปวันเสาร์-อาทิตย์ ไปคุยกับชาวบ้าน ถามชาวบ้านว่าโครงการพระราชดำริที่ทำไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ชาวบ้านอาจให้ข้อมูลว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ถ้าไปทำอะไรที่นี่ที่นั่นเพิ่มเติมบ้างจะทำให้สภาพพื้นที่ดีขึ้น ผมก็นำสิ่งที่ชาวบ้านแนะนำทำเป็นหนังสือกราบบังคมทูล ถวายข้อมูลเบื้องต้นให้ทรงทราบ ทำรายงานส่งถวายพร้อมภาพถ่าย เมื่อได้แปรพระราชฐานมาภาคใต้ พระองค์จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรทรงพิจารณาวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป เช่น โครงการพัฒนาพรุแฆแฆ โครงการทำเขื่อนหินทิ้งบริเวณแม่น้ำสายบุรี โครงการสร้างถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านกะลูแป-บ้านโต๊ะชูด ในเขตอำเภอทุ่งยางแดง ฯลฯ" ตลอดเวลาที่คอยรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ครูธีรพจน์ฯ ประสบพบเห็นสิ่งที่เป็นความประทับใจมากมาย โดยเฉพาะความตราตรึงเป็นพิเศษครั้งที่พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ไปยังมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2536 ทำให้ผู้นำศาสนาอิสลามได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ "ล่ามภาษามลายู" อีกท่านหนึ่ง คือว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานในโครงการศิลปาชีพพิเศษวิทยากรบรรยายหลักสูตรการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท วิทยากรบรรยายขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกหลายๆ บทบาทถ่ายทอดเรื่องราวว่า พระองค์ทรงเข้าพระทัยถึงความทุกข์ยากเดือดร้อน ความกังวลใจ ความต้องการ และวิถีชีวิตด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามหรือชาวไทยมุสลิม ได้อย่างลึกซึ้ง ทุกคนจึงเคารพรักและเลื่อมใสศรัทธาพระองค์เป็นอย่างยิ่งชาวไทยมุสลิมหรือมลายูมุสลิมจึงเรียกพระองค์ว่า "รายอกีตอ" คำว่า "รายอ"แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน,พระมหากษัตริย์หรือในหลวง คำว่า "กีตอ" แปลว่า เราหรือของเรา ดังนั้นคำว่า "รายอกีตอ" จึงแปลว่า "ในหลวงของเรา" ย่อมหมายถึงการยอมรับ การไว้วางใจ ความเคารพรัก ความเลื่อมใสศรัทธา หรือมีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง เพราะเดิมทีเดียวหรือครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ภาคใต้ใหม่ๆ มักเรียกพระองค์ว่า "รายอซีแย" คำว่า "ซีแย"มาจากคำว่า "สยาม" ฉะนั้นคำว่า "รายอซีแย" จึงแปลว่า "พระเจ้าแผ่นดินสยาม" จากที่เคยเรียกว่า "รายอซีแย"เปลี่ยนมาเรียกใหม่ว่า "รายอกีตอ" นั้นมิใช่เป็นเรื่องธรรมดา ข้าราชการรุ่นเก่าๆที่เคยรับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงทราบปัญหาทางภาคใต้ดีเกี่ยวกับคำว่า "คนไทย" หรือ "คนมลายู" ฉะนั้นการที่เรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า "รายอกีตอ"ถือเป็นคำที่มีความหมายและมีความสำคัญยิ่งในความเป็นคนไทย ชาติไทยและความเป็นประเทศไทย โดยมีองค์พระประมุของค์เดียวกัน ในเวลาต่อๆ มา เมื่อประชาชนได้มีโอกาสรับเสด็จฯ และเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ประชาชนได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนมากขึ้นทุกวัน ได้เห็นน้ำพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระองค์ที่มีต่อประชาชนที่มีรูปธรรมอย่างชัดเจนปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนทุกข์ใจเป็นเวลานานก็ได้รับการแก้ไขจนหมดสิ้น จึงยอมรับว่าพระองค์เป็นที่พึ่งโดยแท้จริง "การที่ประชาชนเกิดการยอมรับ ไว้วางใจ ความเลื่อมใส ศรัทธา ด้วยใจรักและภักดีต่อพระองค์ พระประมุขของชาตินั้น ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่งเพราะสิ่งนี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน สร้างไม่ได้ด้วยวัตถุ นับว่าทรงเป็นผู้ดับไฟร้อนในใจทรงแก้ไขความทุกข์ยากลำบากกายจนหมดสิ้น พระองค์ได้พระราชทานทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญมาแทนที่ในภูมิภาคแห่งนี้ ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯของพระองค์โดยแท้จริง ดังนั้นพสกนิกรทุกหมู่เหล่าในภาคใต้ ต่างมีความจงรักภักดี มีความซาบซึ้งและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้" ทุกคนต่างเรียกหา "รายอกีตอ"(ในหลวงของเรา) "รายอกีตอบาเฮะ" (ในหลวงของเราดี) และ "กีตอกาเซะ รายอกีตอ" (เรารักในหลวงของเรา)