สถาพร ศรีสัจจัง

กลุ่มชนที่รวมตัวกันขึ้นเป็น “เมือง” แล้วพัฒนาเป็น “นครรัฐ” (แบบหลวมๆ) ในพื้นที่ที่เรียกกันในยุค “รัฐชาติสมัยใหม่” ปัจจุบันว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา/สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม/ราชอาณาจักรกัมพูชา/สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว/สหพันธรัฐมาเลเซีย  และ “ราชอาณาจักรไทย” หรือที่เรียกกันในอดีตว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “แหลมทอง” หรือ “สุวรรณทวีป” นั้น ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปถึง “ปูมหลัง” ทางประวัติศาสตร์ “คตินิยม-ความเชื่อ” แล้ว ก็ต้องบอกว่ามีความเป็นมาที่คล้ายคลึงกันมาก

กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยคติความเชื่อที่ตั้งอยู่บนฐานของลัทธิเชื่อผี ตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ ผีป่าผีเขา ผีฟ้าผีน้ำ ผีบ้านผีเมือง และ “ผี” อื่นๆ  ภายหลังเมื่ออิทธิพลของจักรวรรดิอินเดียและจีนแผ่มาถึง ลัทธิความเชื่อที่มาจาก 2 แหล่งอารยธรรมนั้นก็ค่อยๆเข้าทาบคลุม ยุคแรกๆก็ได้แก่คติความเชื่อจากศาสนาฮินดู (พราหมณ์) และลัทธิเต๋า-ขงจื้อ จากนั้นจึงคลี่คลายเป็นศาสนาพุทธแบบมหายานและหีนยาน ตามลำดับ

กล่าวเฉพาะพื้นที่ที่เป็น “ประเทศไทย” ปัจจุบัน ตั้งแต่พื้นที่สูงสุดได้แก่ถิ่นล้านนาเดิมคือเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ผ่านมาจนถึงกรุงเทพมหานคร แยกขึ้นอีสานไปจนจรดทุกจังหวัดของพื้นที่ริมโขงและริมเทือกเขาพนมดงแร็ก แยกไปทางตะวันตกจนจรดเทือกเขาถนนธงชัย ลงใต้จนจรดพื้นที่แถบเทือกเขาสันกาลาคีรีและทะเลอันดามัน 

ก็ล้วนพัฒนาระบบการคิดเกี่ยวกับ “ระบบการให้คุณค่า” ต่อความเป็นคน(ทั้งของตัวเอง/ผู้อื่น)และต่อ “สิ่งแวดล้อม” ที่ตั้งอยู่บนฐาน เช่น ที่ว่ามานั้นแทบจะทั้งสิ้น

คือความเชื่อแบบ ผี-พราหมณ์-พุทธ และ ขงจื้อ+เต๋า

ลัทธิความเชื่ออื่น ล้วนเข้ามามีบทบาทภายหลัง (ในบางกลุ่มชน) ทั้งอิสลาม คริสต์(ทั้งคริสตัง/คริสเตียน)และลัทธิความเชื่ออีกบางคติ

คตินิยมที่ก่อระบบคิดและระบบ “การให้คุณค่าในชีวิต” แก่คนในพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างชัดเจน หรือประมาณตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงยุค “รัตนโกสินทร์” ที่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญและที่ยังเห็นได้ชัดว่ายังมีบางส่วนดำรงอยู่ ก็คือ “คตินิยมเชิงพุทธ” ที่ปรับปรนให้เข้ากับข้อจำกัดในเรื่อง “พื้นที่และเวลา” ของผู้คนในประเทศที่เรียกว่า “ไทย” ในปัจจุบันนี้มาโดยตลอด

เกี่ยวกับความเป็น “คน” และ ความเป็น “มนุษย์” ในสังคมไทยแต่เดิมนั้น สองคำนี้มีความหมายที่ต่างกัน กล่าวคือ “คน” มีความหมายถึง สิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่มีร่างกายยืนเหยียดตรงได้ แตกต่างจาก “สัตว์”ชนิดอื่นที่ต้องคลานสี่ขา หรือเลื้อยคลาน หรือบิน ฯ ดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณ(Instinct) แห่งการอยูรอด เช่น การกิน การหลับนอน การต่อสู้และหนีภัย การสืบพันธุ์ และฯลฯ ก็คือเป็นเพียงสัตว์สปีชีส์หนึ่งอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียก “Homo sapiens” นั่นแหละ 

ส่วน “มนุษย์” นั้นในการตีความแบบชาวพุทธหมายถึง “สัตว์โลกที่มีจิตใจสูง มีเหตุผล มีศีลธรรม”

ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม ผู้ที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็น “อริยสงฆ์” ได้รจนาเป็นร้อยกรองไว้บทหนึ่งว่า :

“เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง/ เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน/ ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน/ ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา/ ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ/ ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา/ เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา /เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง/ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า/ ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง/ เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง/แต่ในสิ่ง นำตัว กลัวอบาย/ คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก/ จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย/ ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย/ ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือน เอยฯ”

ในคืนวันที่ที่สังคมไทย (หรือ “สยาม” หรือชื่ออะไรก็ตามที่เคยใช้เรียกคนกลุ่มนี้ในอดีต) พยายามกันอย่าง “สุดติ่งกระดิ่งแมว” ด้วยเหตุผล “เพื่อพัฒนาให้ทันโลก” โดยเฉพาะการไปสมาทานรูปแบบ “ระบบการคิดการให้คุณค่า” ต่อชีวิต และ “การจัดการสิ่งแวดล้อม” (ระบบสังคมที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับกับสิ่งมีชีวิต และ ไม่มีชีวิตอื่นๆ) จากชาติจักรพรรดินิยมตะวันตก (Western Imperialism) อย่างไม่สำเหนียกรู้ในอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตัวเองมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างน้อยก็ตั้งตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา

ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ที่ “ประเทศไทย” หรือ “Thailand” (ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” เมื่อ 6 ตุลาคม 2482) ในยุคเผด็จการสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ได้เปิดประเทศแบบ “อ้าซ่า” รับอิทธิพลของจักรพรรดินิยมอเมริกาทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อ “พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” (Modernization) ตาม “ต้นแบบ” คือสหรัฐอเมริกาแบบไม่ลืมหูลืมตาและแบบไม่รู้จัก “เลือกแก่นทิ้งกาก” อย่างที่บรรดาบรรพชนคนสำคัญเคยกล่าวเตือนเอาไว้ก่อนแล้ว (อย่างน้อยก็คือล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3)

ระบบคุณค่าใด แนวคิดใด หรือทรรศนะใด ที่ขัดขวาง “แนวทางการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย” ที่เรียกว่า “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (ที่เริ่มประกาศใช้แผนระยะที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2504) ของผู้นำประเทศประเภท “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” (ที่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างสนิทแน่นเป็นพิเศษ)

จะถูกต่อต้าน อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยอำนาจเผด็จการ!

ระบบคุณค่าที่เป็นแนวคิดเชิงพุทธที่เป็นเหมือน “atmosphere” ที่ครอบคลุมบรรยากาศสังคมไทยมาอย่างยาวนานเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูก “สั่งยกเลิก” เพื่อการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยแบบโลกตะวันตกในครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น “ท่านผู้นำ” ได้ทำจดหมายถึง"มหาเถรสมาคม"โดยตรง ขอให้สั่งการไม่ให้พระสงฆ์เทศน์หรือสั่งสอนประชาชนในเรื่อง"ความสมถะ"หรือ “การลดละความอยาก” เพราะเป็นการขัดขวางระบบกระตุ้นกิเลสของระบบ “ทุนนิยมเสรี” โดยตรง 

หรือ สั่งการให้โรงเรียนที่สร้างใหม่ต้องไม่อยู่ในวัด หรือ เปลี่ยนระบบวันหยุดของราชการและโรงเรียนจากวันโกนวันพระ เป็นวันเสาร์อาทิตย์ (ตามชาติตะวันตก ที่พวกเขาต้องไปโบสถ์ในวันอาทิตย์) เป็นต้น

แล้วระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งกระตุ้นกิเลส เพราะมี “กำไร” และ “เงิน” เป็นสรณะ เป็นเป้าหมายสูงสุด ของชีวิตเหนือสิ่งอื่นใด ก็ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้น ขณะที่คตินิยมเชิงพุทธ และ คตินิยมเชิงคุณธรรม จริยธรรมอื่นใดทั้งหลาย ก็ค่อยๆแผ่วล้าและเสื่อมทรามลง คติความเชื่อ “บาป-บุญ”/คติความเชื่อแบบ “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว”/ระบบคติความเชื่อทำนอง “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” ฯลฯ จึงค่อยๆ ล่มสลายลงในที่สุด

“คน” ในพื้นที่รัฐชาติสมัยใหม่ที่ชื่อ “ประเทศไทย” แห่งนี้ ที่เคยพัฒนามาจนดำรงความเป็น “มนุษย์” (คือมี “ความจริง ความดี และความงาม” เป็นสรณะ และ เป็นจิตวิญาณมากขึ้นพอประมาณแล้ว) ก็ค่อยๆกลับกลาย (โดยระบบคิด ระบบการให้คุณค่าแก่ชีวิต) กลับไปเป็น “คน” ยุคใหม่ใน “เจเนอเรชัน” ใหม่ตาม “ต้นแบบ” (แต่เนื้อหาคือดิบ-หยาบ-ถ่อย-เถื่อน และไม่มี “ศีล-ธรรม” มีแต่ความต้องการ “เบียดเบียน” ในจิตวิญญาณหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้นกว่า “คน” ในยุคชุมชนบุพกาลที่เป็นไปเพราะ “สภาวธรรม” เสียอีก!) คือ สหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างที่เห็นชัดๆกันอยู่ในปัจจุบัน!!