สถาพร ศรีสัจจัง

มีคำ 3 คำที่น่าสนใจว่าน่าจะเป็น “ต้นตอของปัญหา” และ “ต้นตอของทางออกแห่งปัญหา” คำ 3 คำที่ว่าก็คือคำ “รสนิยม” (Taste) “การเลือก” (Choosing/Selection) และ “ความพอดี” (Middle path) 

ที่วงเล็บเป็นภาษาฝรั่งไว้หลังคำไทยก็เพราะเหตุผล 2 ประการ 

ประการแรก เพราะกลัว “คนไทย” ยุควัฒนธรรมไทย (ที่กำลังจะ)ล่มสลายอย่างปัจจุบัน จะนึกไม่ออกว่าคำนั้นๆมีความหมายอย่างไร/หรือหมายถึงอะไรกันแน่  เพราะคุ้นชินกับการใช้ “ภาษาสากล” (?) เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนมากกว่า และที่ไม่วงเล็บภาษาจีนไว้ด้วยก็เพราะคนเขียนไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษานั้นเลย  ทั้งไม่มีความทันสมัยพอที่จะสืบค้นโดยระบบดิจิทัลเพื่อนำมาใช้อย่างทันการ ครั้นจะใช้ “พจนานุกรม” สืบค้นแบบคนรุ่นเก่า ก็ไม่มีสิ่งนั้นอยู่ใกล้มือ ไม่ใช่เพราะความรังเกียจหรือ “เลือกปฏิบัติ” แต่อย่างใด

เหตุผลประการที่ 2 คงไม่มีอะไรมากไปกว่าทำให้ดู “เท่”  ทันสมัย และดูเป็น “เชิงวิชาการ” (ซึ่งหลายคนบอกว่าน่าเชื่อถือกว่าแบบ “บ้านๆ”) แบบที่นักวิชาการไทยทั่วไปมักนิยมทำกัน อันเป็นภาพสะท้อนประการหนึ่งว่า บัดนี้ภาษาไทยนั้น “ไม่เพียงพอ” ที่จะสื่อสารกับคนไทยให้เข้าใจตรงกันได้แล้ว (ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณเตือนถึงภัยอะไรบางอย่างที่น่าจะไม่ค่อยดีนักกับสังคมไทยเบื้องหน้าหรือเปล่า?)

ก่อนจะคุยกันถึงประเด็นอื่น ลองมาดูนิยามความหมายของคำ 3 คำที่ว่ากันก่อนสักหน่อย เพื่อจะได้สื่อความหมายตรงกัน (แปลโดย “อรรถ” หรือ “ความ” ไม่ใช่โดย “อักขระ”) คำแรก คือคำ “รส” นั้น หมายถึง “ความรู้สึกนิยมชมชอบในสิ่งนั้นความพอใจในสิ่งนั้น” คำที่ 2 คือ “การเลือก” หมายถึง “การคัดสิ่งที่มีมากกว่าหนึ่งขึ้นไปเพื่อเอาไว้หรือเอาออก”

ส่วนคำที่ 3 คือคำ “ความพอดี” นั้น ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นคำที่เป็น “ตัวกำหนดระบบการคิดเกี่ยวกับการให้คุณค่า” (ส่งผลต่อการสร้าง “รสนิยม” และ “การเลือก”) ในฐานะที่แม้สังคมไทยจะเป็นสังคม “พหุลักษณ์” เชิงจริยธรรม กล่าวคือ ผู้คนที่มาหลอมรวมกันเข้าจนกลายเป็น “รัฐชาติสมัยใหม่” ในเชิงรัฐศาสตร์แบบยุคปัจจุบัน มีฐานอิทธิพลทาง “คติความเชื่อ” ที่เกิดจาก “ลัทธิ” หรือ “ศาสนา” ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง  แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้มักได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธมาแต่โบราณเก่าก่อนเป็นส่วนใหญ่ มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ในเรื่องกล่าวนี้มานับเป็นพันๆปี ในที่ที่นี้จึงขอยึดความหมายคำ “ความพอดี” จากกรอบคิดเชิงพุทธเป็นหลัก

“ความพอดี” ในแง่ของพุทธปรัชญานั้นที่พอประมาณได้ ก็คือหลัก “มัชเฌนธรรมเทศนา” หรือหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” นั่นเอง หลัก “ทางสายกลางแห่งสภาวธรรม” ของพระพุทธเจ้านี้ อาจสรุปความสั้นๆให้เข้าใจตรงกันเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ได้อย่างง่ายๆว่า ก็คือ “ความไม่สุดโต่ง ความสมดุล หรือ ความเหมาะสม” นั่นเอง !

คงจะไม่ต้องนิยามเพิ่มอีกแล้วละนะว่า “ความสุดโต่ง ความสมดุล และความเหมาะสม” คืออะไร เกิดเป็นคนไทยทั้งที และโชคดีอยู่บ้างที่ยังอ่านภาษาไทยออก ถ้าไม่รู้ก็ไปหากันเอาเองบ้างก็แล้วกัน นิสัยรอคนอื่นมาเปิดปากป้อนให้ทุกเรื่องอย่างนี้แหละมั้ง ที่น่าจะคือต้นตอของปัญหาอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทยเรา!

ทำไมจึงต้องกล่าวว่าคำ “รสนิยม การเลือก” และ “ความพอดี” คือต้นตอของปัญหา และ อาจจะคือ “ทางออก” ของสังคมไทย?

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็จะได้ทำนองว่าก็เพราะ “รสนิยม” เป็นตัวกำหนด “การเลือก” และ “การเลือก” นั่นเองที่จะกำหนด “ความพอดี” หรือ “ความไม่พอดี” ให้เกิด “ความสมดุล” หรือ “ไม่สมดุล” ที่ “เหมาะสม” หรือ “ไม่เหมาะสม” ขึ้นในสังคมไทย!

แล้ว “รสนิยม” ที่ดูว่าจะสำคัญนักหนานั่นนะเกิดจากอะไรกัน ?หรือมาจากไหน?

ตอบอย่างง่ายสุดแบบ “นักวิชาการตะวันตก” ก็ต้องตอบว่า สิ่งที่เรียกว่า “รสนิยม” หรือ “ความชอบใจ” ใน “รส” ของสิ่งนั้นๆ ล้วนเกิดจาก “สัญชาตญาณ” (Instinct) และ “การเรียนรู้” (Learning)ทั้งสิ้น!

“สัญชาตญาณ” นั้นฟังมาว่า เป็นของติดตัวสิ่งมีชีวิตสปีซี่ “Homosapien” หรือ ที่เรียกในภาษาไทยว่า “คน” มาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิในครรภ์มารดาโน่นแล้ว และ “การเรียนรู้” ก็เกิดขึ้นตามมา เกิดขึ้นตามระยะแห่งการพัฒนาของอวัยวะส่วนที่เรียกว่า “เครื่องมือที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการรับรู้” ที่เรียกกันในภายหลังว่า “สมอง” (Brain)นั่นเอง

ก็ฟังมาอีกนั่นแหละว่า ในความเป็นจริงแล้ว “การเรียนรู้” (learning) ของ  “คน” แต่เดิมนั้นสัมพันธ์กับ “สัญชาตญาณ” (instinct) โดยตรง กล่าวคือ ล้วนเป็นไป “เพื่อการอยู่รอดของชีวิต” (Survival instinct) ทั้งสิ้น แต่เมื่อ “คนพัฒนา” มากขึ้นๆจนกระทั่งเกิดการเรียนรู้เชิง “จริยธรรม” อย่างลึกซึ้งจนเรียกตัวเองว่า “มนุษย์” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีใจสูง” (โดยเฉพาะกลุ่ม “คน” ในแอ่งอารยธรรมตะวันออกทั้งหลาย)ผู้ “คน” จำนวนหนึ่งจึงสามารถหลุดพ้นจากสัญชาตญานดิบเถื่อนแบบที่ติดตัวมาแต่เดิมได้บ้าง

และเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้” ของมนุษย์ทั้งโลกที่มีบริบท (context) ของชีวิตที่แตกต่างกันนี่เอง ที่น่าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบ “คุณค่า” ของการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ก่อเกิด “เป้าหมาย” ในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ก่อเกิดคติความเชื่อที่จะ “เติมเต็มช่องว่าง” (blank) ระหว่าง “การมาถึง” และ “การจากไป” ของชีวิตที่แตกต่างกัน(ดังที่นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศสเชื้อสายไนจีเรียนาม “Albert Camus” เคยกล่าวไว้ในนิยายเรื่อง “คนนอก” ของเขา) ฯลฯ

และที่สำคัญก็คือ ความเข้าใจเรื่อง “คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพัฒนาเรียนรู้” นี่ละกระมัง ที่มีส่วนอย่างสำคัญให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ระบบการศึกษา” (Education System)ขึ้นในสังคมมนุษย์แล้ว “ระบบการศึกษา” ที่ว่าคืออะไรกันละ?

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายแบบคนยุค “สังคมไร้พรมแดน” (Globalization) หรือยุค “Digital” ในปัจจุบัน(ดูเหมือนสังคมไทยก็ “พัฒนา” ไปเป็นสังคมแนวนี้แบบ “พิกลพิการ” กับเขาเข้าแล้วเหมือนกัน?) ก็ต้องใช้คำว่า ก็คือ “ระบบการโปรแกรมข้อมูล” ใส่สมองคนทั้งสังคมพร้อมๆกันตามที่ “โปรแกรมเมอร์” ต้องการไง(ละจ้ะ!)

นี่แหละจ้ะ คือต้นตอแห่งการก่อกำเนิด “คติความเชื่อ” หรือ “ระบบคุณค่า” อันเป็นที่มาของ

“รสนิยม” และ “การเลือก” ในที่สุด หรือ จะยังไม่เข้าใจอีกว่า “การเลือกทางการเมือง” ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการถูก “โปรแกรม” ให้มี “รสนิยม” ว่าจะเอาแบบ “พิธา” / “ประยุทธ์”/ “บิ๊กป้อม” / “อนุทิน”/ “ทักษิณ” หรือ “เศรษฐา”ฯ เช่นกัน…55!