ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ในมิติเชิงศิลปวัฒนธรรมสำหรับพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่น การเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดา ทรงเยี่ยมราษฎร 14 จังหวัดภาคใต้เป็นครั้งแรกปี พ.ศ.2502 เมื่อเสด็จถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ช่วงเวลานั้นเป็นเดือนถือศีลอดของพสกนิกรผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ปรากฏภาพประชาชนทุกชาติศาสนาเดินทางมารอรับเสด็จคอยเฝ้าชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่น จากภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้น สะท้อนการเปิดกว้างความเป็น “คนชาติพันธุ์มลายู” อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจงรักภักดี เสื้อผ้าอาภรณ์ การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ขบวนแห่นก การละเล่น ฯลฯ หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2516 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรในแทบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหรือในท้องถิ่นทุรกันดารเพียงใด เมื่อรับทราบปัญหาของพสกนิกรแล้ว ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นนำมาซึ่งความสุขสงบร่มเย็นตลอดมา ล่วงถึงปี พ.ศ.2518 ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดนราธิวาสที่กำลังสูญหายไปจากสังคม ถวายทอดพระเนตร เพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ขณะเดียวกันเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือกอและด้วยฝีพาย ที่ว่างเว้นมานาน กระทั่งมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเรือกอและด้วยฝีพายหน้าที่นั่ง อีกทั้งพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย ผลการแข่งขันเรือกอและฯ ครั้งแรก ทีมชนะเลิศได้ครองถ้วยพระราชทานคือเรือชื่อ สิงห์ภักดี ของกลุ่มชาวประมงบ้านบาเละฮิเล จังหวัดนราธิวาส หัวหน้าทีมคือ นายศิริ อับดุลสาและ นับแต่นั้นมา จังหวัดนราธิวาสจึงได้จัดเป็นประเพณีสืบต่อมาตลอดทุกปี จัดให้อยู่ในกองงานหนึ่งใน 5 กองงานของ “งานประเพณีของดีเมืองนรา” ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 21-25 กันยายนของทุกปีจนกลายเป็นประเพณียิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส โดยในปี พ.ศ.2522 จังหวัดนราธิวาสได้ริเริ่มให้เพิ่มการแข่งขันเรือยาวเข้าไปอีกประเภทหนึ่ง งานจึงเปลี่ยนเป็น “งานประเพณีแข่งขันกอและ และเรือยาวหน้าพระที่นั่ง” เพื่อชิงถ้วยพระราชทานประจำปีนั้นๆ และจัดเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บรรยากาศในงานนอกจากรวบรวมสิ่งที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดนราธิวาส เช่น งานแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพิเศษ งานวันกระจูด งานประชันเสียงนกเขาชวา ยังมีงาน “วันลองกอง” ซึ่งเป็นผลไม้พื้นเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องไปไกล นั่นก็คือ “ลองกองซีโป” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2527 ว่า “...การแข่งเรือที่จังหวัดนราธิวาส น่าจะส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการโฆษณาออกไปนานๆ ให้ชาวต่างประเทศมาเที่ยว ในระหว่างการแข่งเรือ มีการขายสินค้าศิลปาชีพด้วย เช่น เสื้อไหมไทย กลางวันแข่งเรือ กลางคืนออกร้าน เชิญเสด็จฯ ทั้งงานการแข่งเรือและงานออกร้าน...” สำหรบมิติด้านการพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดนราธิวาส นับเป็น 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริที่มีพระบรมราโชบายเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนในชนบท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากทรงทราบถึงปัญหาด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส เนื่องมาจากมีพื้นที่พรุซึ่งยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในจังหวัดนราธิวาสถึง 261,860 ไร่ ทรงศึกษาและทราบถึงความยากลำบากในการทำมาหากินของราษฎรในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริในหลายวโรกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2525 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถูกจัดตั้งขึ้นในเขตพื้นที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินงาน 1,740 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่แปลงศึกษา ทดลอง วิจัย แปลงสาธิตบนที่ดินและอาคารต่างๆ พื้นที่สวนยางเขาสำนัก และพื้นที่อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ทรงพระราชทานแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวโดย “ทฤษฎีแกล้งดิน” รวมถึงมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อสนองพระราชดำริอีกมากมาย เช่น การปรับปรุงน้ำเปรี้ยว แปลงทดลอง “ทฤษฎีใหม่” การปลูกพืชแซมยาง การเลี้ยงปลาน้ำสามรส (น้ำจืด น้ำเปรี้ยว และน้ำเค็ม) การจัดทำโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ฯลฯ พร้อมกันนั้นได้มีการนำผลศึกษาที่ได้ไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาสและใกล้เคียง ปัจจุบัน มีบุคคลทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงงานชมศูนย์ฯ ซึ่งจัดเป็นประจำในเดือนกันยายนของทุกปี นอกจากนั้นผลงานต่างๆ ที่ได้แสดงไว้ยังถูกนำไปขยายผลสู่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และศูนย์สาขา ในพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้เป็นเขตพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ 85,015 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมสภาพดินไม่เหมาะสมในการเกษตร สามารถประกอบอาชีพการเกษตรจนส่งผลให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้กล่าวได้ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นเพียงหนึ่งในโครงการของพระองค์ท่านที่ได้เอื้ออำนวยประโยชน์นานัปการแก่ราษฎรในจังหวัดนราธิวาส หากความจริงแล้วยังมีโครงการพระราชดำริอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง รวมแล้วนับร้อยโครงการ ครอบคลุมทั้งด้านการชลประทาน การเกษตร ปศุสัตว์ ประมง สหกรณ์ ป่าไม้ การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สาธารณสุข ศิลปาชีพ ฯลฯ