ไทรโยคที่รัก / ยูร  ไทรโยค

จากเขาโทนบนที่ผมสร้างบ้านอยู่ ไกลออกไปเป็นเขาโทนล่าง  แลเห็นภูเขาเด่นตระหง่านโอบกอดล้อมรอบ แผ่อาณาเขตกว้างขวาง  สุดฝั่งผืนดินของเขาโทน เป็นแม่น้ำแควน้อย ทอดเป็นสายยาว  ใสสะอาด สมัยก่อนที่อุดมสมบูรณ์ชาวบ้านบอกว่าปลาชุมมาก กระโดดขึ้นมาบนหาดเสียงดังตุบตับ จับได้อย่างสบาย

ช่วงที่อยู่บ้านใหม่เป็นหน้าฝน  ฝนเทลงมาจั้ก ๆ บางครั้งถะถั่งพรั่งพรูลงมา น้ำฝนไหลเซาะดินดำเป็นสายออกไปสู่ถนนในซอย  ภายหลังจึงรู้ว่าน้ำที่ไหลนอง ไม่ใช่น้ำฝนที่ตกแถวบ้าน  แต่เป็นน้ำฝนที่ไหลลงมาจากน้ำตกไทรโยคน้อย เพราะฝนตกแรงจนน้ำล้น

บ่ายวันหนึ่ง จู่ ๆ ฝนก็เทลงมา ในขณะที่ผมปั่นจักรยานเข้ามาภายในบริเวณบ้าน จอดจักรยานเสร็จ รีบเข้าไปหลบใต้ชายคา นึกถึงเพลง “ฝนตกฟ้าร้อง” ประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่ขึ้นต้นวรรคแรกว่า...

“อยู่ใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน เกิดเป็นคนเมื่อถึงที่ก็ตาย...”

ผมยืนอยู่ใต้ชายคาบ้าน มองสายฝนขาวพร่าง  พักใหญ่ จึงเอาหม้ออลูมิเนียมใบใหญ่มาตั้งบนเก้าอี้พลาสติกรองน้ำฝน น้ำฝนในหม้อใสสะอาด มองทะลุเห็นก้นหม้อ  แสดงว่าน้ำฝนชะล้างหลังคาใหม่จนสะอาดแล้ว  เพราะฝนตกเกือบทุกวัน 

ต่อมาจึงเรียนรู้ว่า ถ้าฝนไม่ตกเป็นเวลานาน  ถ้าเอาหม้อมารองน้ำฝน จะเป็นสีเหลืองอ่อนเพราะหลังคามีฝุ่นจับเขรอะ ต้องปล่อยให้ฝนตกลงมาสักพัก ชะล้างฝุ่นบนหลังคาให้สะอาดก่อน

ถ้าฝนตกหนักมาก คนโบราณเรียกว่า ฝนตกห่าใหญ่  คำว่า “ห่า” คนสมัยโบราณวัดปริมาตรของน้ำฝน  โดยเอาบาตรไปวางไว้กลางแจ้ง ถ้าน้ำฝนเต็มบาตร เรียกว่า 1 ห่า  ถ้าฝนตกห่าใหญ่  ก็นับเป็นสิบบาตร คำว่า “ฝนตกห่าใหญ่” นักประพันธ์ยุคเก่าจะนำไปใช้เป็นสำนวนในการบรรยาย  คนยุคนี้อ่าน ไม่เข้าใจหรอกว่าคืออะไร

เพลงเกี่ยวกับฝน มีเยอะมาก เพราะเมืองไทยกับฤดูฝนเป็นของคู่กัน  ฝนทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ด้วยธัญพืช  ฝนขาดเม็ดหรือฝนแล้ง  ชาวไร่ชาวนาก็เดือดร้อน ฝนตกหนักเกินไป  น้ำก็ท่วมไร่นาเสียหาย ถ้าเมืองกรุงหรือเมืองใหญ่  น้ำท่วม ระบายไม่ทัน  เหมือนที่พูดกันติดปากว่า “ฝนตก รถติด”

ถ้าฝนตกพอชุ่มฉ่ำ  ต้องนึกถึงเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน”ของในหลวง รัชกาลที่ 9 คนไทยรู้จักดี  ถ้อยคำสวยงาม ทำนองเพราะพริ้ง กลมกลืนลื่นไหลกับเนื้อเพลง....  

 

“เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว

ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ

เหมือนจะเอนรากคลอดถอนไป

แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม....”

เพลงเกี่ยวกับฝนอีกเพลงหนึ่งที่มีจังหวะสนุกคึกครื้น เป็นเพลงคู่ของวงสุนทราภรณ์อันยืนยง ประพันธ์คำร้องโดย ครูธาตรี ทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน คือเพลง “ฝนจ๋าฝน” ขึ้นต้นก็คึกครื้นแล้ว...

“ฝน ฝนจ๋า

ฝนเทลงมาให้เย็นชื่นใจ

ท้องนาท้องไร่

ทุกทางทั่วไปสดใสงามตา...”

เพลงนี้นักร้องรุ่นหลังเอามาร้องหลายเวอร์ชั่น บ้างใช้ในการแสดงประกอบรายการก็มี  เพราะเพลงเกี่ยวกับฝนเป็นเพลงที่แสดงถึงวิถีไทยที่มีความผูกพันมาแต่เก่าก่อน

เช่นเดียวกับฝนที่บ้านของผม วิถีแบบไทย ที่กินน้ำฝนมาตั้งแต่ยังเด็ก  ความผูกพันที่มีมาแต่ดั้งเดิม จึงได้เอาหม้อมารองน้ำฝนไว้ดื่มกิน คนสมัยใหม่กินน้ำฝนแค่อึกเดียว ทำหน้าเหยเก จะอ้วกให้ได้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่กินน้ำฝนเลย  เขาว่าไม่สะอาด อากาศมีสารพิษ

ถ้าเป็นบ้านเรือนในตลาดหรือใกล้ถนน ก็คงใช่ แต่ที่พักอาศัยของผมอยู่ลึกเข้าไปราว 2 กิโลเมตร ไม่ได้อยู่ใกล้ถนนใหญ่  มีป่าเหมือนด่านขวางกั้น  ป่าช่วยกรองน้ำฝนโดยธรรมชาติ

หลังจากได้น้ำฝนแต่ละหม้อที่ตั้งไว้บนเก้าอี้พลาสติก ผมจะกรองน้ำฝนเองอีกครั้ง เพื่อความสะอาดยิ่งขึ้น  ด้วยการเทน้ำฝนใส่ถังพลาสติก โดยผ่านกรวยที่มีฝากรองเล็ก ๆ เหมือนตาข่าย ไม่ใช่เอาน้ำจากหม้อไปกินเลย  น้ำฝนจะออกรสหวานปะแล่มนิด ๆ กินแล้วชื่นใจ ไม่เหมือนน้ำดื่มที่ขายในท้องตลาดที่จืดชืด  สำหรับคนสมัยใหม่แล้ว คงรังเกียจ กินน้ำฝนไม่ได้หรอก 

ฝนชุกอย่างนี้  ดงกล้วยข้างบ้านเริ่มแตกหน่อ  หัวปลีเล็ก ๆๆ สีม่วงแดงโผล่ออกมาห้อยลง  ส่วนฟักทองพันธุ์มอญที่หว่านเอาไว้แทงยอดสีเขียวอ่อน มุดขึ้นมาจากผืนดิน ฟักทองพันธุ์นี้ มีรสหอมมัน แถมลูกโต ต้องอุ้ม

ภายหลังเอาไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่สนิทกัน  จนถึงเขาโทนล่าง ต่างก็ติดใจ เพราะไม่เหมือนฟักทองทั่วไป ชมเปาะว่าหวานมัน อร่อยมาก บอกว่าไม่เคยกินมาก่อน ชาวบ้านแสดงน้ำใจ ตอบแทนด้วยการทำบวชฟักทองใส่ไข่และน้ำมะพร้าวหอมมาให้ บ้างเชื่อมฟักทองมาให้  จนกินไม่ทัน เพราะอยู่คนเดียว

วันหนึ่งฝนตกซู่อย่างหนักหน่วงและนานเป็นชั่วโมง  น้ำฝนที่เคยไหลออกไปยังถนน เปลี่ยนทิศทาง เพราะระบายไม่ทัน สายน้ำจึงไหลทะลักตรงมาที่หน้าบ้าน เซาะดินโคลนสีดำไหลลงมาด้วย  บ้างแหวกออกไปทางด้านที่เป็นรั้วลวดหนาม

สายน้ำไหลพรั่งพรูจากเนินดินตรงมาที่หน้าบ้าน มองดูราวกับน้ำตกจำลอง ลูกแมวเข้าบ้านไม่ทัน เพราะสายน้ำไหลมาเร็วมาก  ต้องกระโดดขึ้นไปหลบบนเก้าอี้  ผมต้องลุยน้ำอุ้มลูกแมวมาในบ้าน พร้อมกับร้องเสียงแหลมด้วยความกลัว

มันก็น่ากลัวอยู่หรอก  ผมก็เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกในชีวิต นี่เองที่ชาวบ้านเรียกว่า ทางน้ำไหล  ความจริงแล้ว  ฝนตกบริเวณที่อยู่ น้ำฝนไม่ไหลลงมาจากเนินดินแรงหรอก  แต่เป็นเพราะฝนตกจนล้นน้ำตกไทรโยคน้อย แล้วไหลทะลักลงมายังบ้านและลำห้วยที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน  ลำห้วยที่แห้งขอดในหน้าแล้ง จนมองเห็นก้นลำห้วยที่ลึกโหวง ซึ่งเคยมีแต่ดินแข็ง  จึงมีน้ำเปี่ยมลำห้วย

เด็ก ๆ และวัยรุ่นลงไปเล่นน้ำในลำห้วยอย่างสนุกสนาน  ถ้าจะไปเล่นน้ำที่แม่น้ำแควน้อย ก็ลงไปทางเขาโทนล่างหลายกิโลเมตร ผมปั่นจักรยานออกไปที่ถนนใหญ่ ผ่านลำห้วย ได้ยินเสียงน้ำไหลดังซ่า สายน้ำสีขาวไหลพลั่ก ๆ ออกมาจากแนวป่า

ผมจอดรถจักรยานมองดูอย่างเพลิดเพลิน สายน้ำเย็นฉ่ำ ช่างชื่นตาชื่นใจนัก  คิดว่าจะลงไปเล่นน้ำในห้วยซักวัน  เมื่อเล่าให้เพื่อนบ้านที่สนิทกันว่า  อยากลงไปเล่นน้ำในลำห้วย ท่าจะสนุก เขาบอกว่า

“อย่าลงไปเล่นน้ำนะพี่ยูร ลูกหนูเคยลงไปเล่นน้ำมาแล้ว  คันมาก จนนอนได้ อาบน้ำฟอกสบู่ ก็ยังไม่หายคัน น้ำที่ไหลลงมาจากน้ำตก  เผื่อจะไหลมาถึงลำห้วย  เอาเศษถุง สิ่งของที่คนทิ้งตามพื้นดินมาด้วย”

ผมได้ยินเช่นนั้น  จึงเปลี่ยนใจ ไม่ลงไปเล่นน้ำ เพิ่งรู้ว่าน้ำในลำห้วยไม่ใช่ฝนที่ตกลงมาอย่างเดียว แต่ไหลมาจากน้ำตกพัดพาสิ่งปฏิกูลมาด้วย

นี่คือเรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่ได้เรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่และเพิ่งประจักษ์เป็นครั้งแรกว่า ทางน้ำไหลเป็นอย่างนี้นี่เอง