ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ครั้งหนึ่งหนังสือ “PATANI MERDEKA บนท้องถนน” ทำให้ชื่อของผู้เขียน – ตูแวดานียา ตูแวแมแง ยิ่งถูกจับตามองจากบุคคลหลายฝ่าย ด้วยความเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและอยู่เคียงข้างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบตลอดมา ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กระทั่งปัจจุบัน ยังคงมีบทบาทเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องผ่านมิตินักประชาสังคมและนักเขียนอิสระ ล่าสุด ภาพของเขาปรากฏในฐานะแกนนำอ่านแถลงการณ์พิเศษ วันที่กิจกรรมรำลึกวันสันติภาพสากลและร่วมรณรงค์สันติภาพที่มีเกียรติ สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน กิจกรรมเสวนา “สันติสุขชายแดนใต้+สันติภาพปาตานี=สันติสุขประเทศไทย หรือสันติภาพสากล” ณ มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ซึ่งจัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ถูกสั่งให้ระงับ “ห้ามจัด” นอกจากภาพสถานภาพ “นักเคลื่อนไหว” แล้ว อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจของ ตูแวดานียา ตูแวแมแง คือ การสวมบทบาทในฐานะ ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ซึ่งกำลังดำเนินโครงการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน หรือ “ชุมชนสันติธรรม” โดยเขาให้เห็นผลว่า เหตุที่ใช้คำว่าสันติธรรมแทนที่จะเป็นคำว่าสันติภาพหรือสันติสุข เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน คำว่าสันติภาพหรือสันติสุขทั้ง 2 คำกลายเป็นวาทกรรมที่มีปัญหามาก หากใช้คำว่าสันติภาพก็ถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือเอียงข้างฝ่ายขบวนการ หากใช้คำว่าสันติสุขจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าสนับสนุนหรือเอียงข้างให้ฝ่ายรัฐ จึงใช้คำใหม่ว่า “ชุมชนสันติธรรม” โดยคำว่า “ธรรม” ในที่นี้หมายถึง “ความยุติธรรม” และอีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่า “ธรรมะ” แปลว่า ศาสนา หรือที่พึ่งทางใจ สอดคล้องพอดีกับเจตนารมณ์ของโครงการที่พยายามจะบูรณาการระหว่างความยุติธรรมกับศาสนา สำหรับคำว่า “สันติ” คือบริบทชุมชนตามโครงการ Kampong Damai ที่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วยการให้มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องการสร้างสันติภาพ/สันติสุข มีการใช้ชุดความรู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีองค์กรระดับชุมชน ซึ่งจะเป็นการองค์กรทางวิชาการและบริหารโดยคนในชุมชนเอง เป็นผู้เรียนหลักและมีบทบาทโดยตรงในการจัดตั้งศูนย์ Kampong Damai ณ ที่นี้หมายถึงคนที่มาจากโครงสร้าง 4 เสาหลัก คือ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาสนา ฝ่ายบริหาร และผู้นำตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นครูสอนในโรงเรียนตาดีกา รวมถึงกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี เป็นต้น ภายใต้หลักคิดสำคัญของโครงการ คือ “ต้องเชื่อมั่นในพลังชุมชน” โดยมี LEMPAR เป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่วนชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติการจัดตั้งศูนย์ KAMPONG DAMAI ตัวชี้วัดสำคัญคือจะต้องสามารถเข้าถึงในชุมชนระดับลึกได้ ไม่เกิดแรงต้านและไม่เพิ่มปัญหาต่อชุมชน เพราะบางแห่งโครงสร้าง 4 เสาหลักในชุมชนเองก็มีความขัดแย้งอยู่แล้ว ภายใต้หลักปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้ จึงมีการหาเครื่องมือหรือกลไกตัวใหม่เข้าไปใช้ในชุมชน ด้วยความพยายามจัดโครงสร้างขึ้นมาใหม่เป็นรูปแบบองค์กรในชุมชน และชาวบ้านให้การสนับสนุน โดยชาวบ้านไม่รู้สึกหวาดระแวง ไม่รู้สึกว่ามีวาระซ่อนเร้นจากฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายรัฐ หรือจากองค์กรพัฒนาเอกชนเอง ระยะแรกการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai มีกิจกรรมหลักๆ เป็นงานความรู้เป็นหลักซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะชุมชน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสันติภาพระดับชุมชน เพื่อให้ 4 เสาหลักและชาวบ้านสามารถมองเห็นอนาคตชุมชนว่าจะเป็นอย่างไร และสามารถก้าวข้ามปัญหาความมั่นคง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอบายมุข และการขาดความรู้เรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของชาวบ้าน เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ในกรณีที่มีการปิดล้อม ตรวจค้น หรือจับกุมผู้ต้องสงสัยในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ทำให้มีการละเมิดสิทธิได้โดยตรง มีเพียงผู้นำ 4 เสาหลักที่พอจะพูดคุยหรืออธิบายกับเจ้าหน้าที่ได้ หรือเจ้าหน้าที่รัฐอาจไปกดดันผู้นำศาสนาให้รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในแง่มิติความมั่นคงนั้น ผู้นำ 4 เสาหลักต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่เข้มแข็งเพียงพอที่ทุกคนสามารถมาออกแบบร่วมกันได้ ดังนั้นเครือข่าย Kampong Damai จะเป็นศูนย์รวมกลางของทุกฝ่ายในชุมชน ทั้งชาวบ้านและผู้นำ 4 เสาหลัก ที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถติดต่อประสานงานได้ทันที รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ หรือหน่วยง่านอื่นๆ ที่จะลงพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ ชุมชนเป้าหมายของโครงการฯ มี 4 แห่ง ได้แก่ 1.บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 2.บ้านนอก ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนไทยพุทธ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อจัดตั้ง 3.บ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 4.บ้านบลูกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส ส่วนหลักสูตร Kampong Damai ประกอบด้วย 4 หมวดวิชาหลักด้วยกันคือ 1.หมวดวิชาการเมืองและสันติภาพ 2.หมวดวิชากฎหมาย สิทธิมนุษยชนและการเยียวยา 3.หมวดวิชาการจัดการองค์กร 4.หมวดวิชาการสื่อสารและการรณรงค์สาธารณะ ข้อท้าทายสำคัญของโครงการ Kampong Damai หลังจากที่ได้ดำเนินการมาได้ 1 ปี คือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เพราะโดยวิสัยแนวคิดของความมั่นคงนั้นมักมองอะไรที่ไม่ได้มาจากการก่อเกิดของตัวเองอย่างตั้งแง่ตั้งมุมอยู่แล้ว ต้องเฝ้าระวังไว้ก่อนจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงได้ อย่างไรก็ตามฝ่ายความมั่นคงในระดับนโยบายก็ยังไม่ปิดพื้นที่การสื่อสารทำความเข้าใจเสียทีเดียว คงขึ้นอยู่กับทางโครงการเองว่าจะสามารถทำการสื่อสารทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงได้ดีมากน้อยแค่ไหน แนวทางการดำเนินกิจกรรมของ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ LEMPAR และเครือข่าย แน่นอนว่าต้องผ่านปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย แต่อย่างน้อยคงเป็นเช่นที่ครั้งหนึ่งเขาเคยอรรถาธิบายไว้ว่า เลือกใช้บทความชิ้นที่ชื่อ “PATANI MERDEKA บนท้องถนน” มาเป็นชื่อผลงานหนังสือเล่มสำคัญ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นการโยนคำถามให้สังคมสาธารณะได้ทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี สู่การมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสันติภาพที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นแค่ “นักสันติภาพนิยม” บนพื้นฐานของความรู้สึกและชอบจินตนาการเพียงอย่างเดียว