ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผู้เขียน เคยเขียนถึง ความเคลื่อนไหวของภาครัฐในแนวทางแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีแผนงานหนึ่งเป็นแผนงานที่มีความน่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญนั่นคือ โครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหลักการสำคัญคือ การที่ภาครัฐโดย ศอ.บต.เปิดพื้นที่ให้องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ทำงานตามแผนงานที่องค์กรภาคประชาสังคมเสนอและมีความถนัด ขณะที่ภาครัฐโดยกลไกของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และคอยติดตามประเมินผลซึ่งปี 2560 นำร่องงบประมาณ 50 ล้านบาท มีองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับจัดสรร 223 องค์กร จากองค์กรที่เสนอแผนเกือบ 500 องค์กร วันนี้การดำเนินงานมีความคืบหน้าเกือบจะโค้งสุดท้ายแล้ว จึงเห็นควรจะอัพเดทข้อมูลให้กับผู้อ่าน โดย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า โครงการ มีความคืบหน้าแล้วไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการติดตามประเมินผลเป็นระยะ หลายองค์กรดำเนินภารกิจเสร็จสิ้น กระแสการตอบรับค่อนข้างดี สร้างการตื่นตัวของภาคประชาสังคม สร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน มีการเสนอปัญหาเป็นโครงการที่ชัดเจน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งคิดโครงการ ลดความซ้ำซ้อนและงานที่ขับเคลื่อนลงไปจะมีเอกภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญในหลายพื้นที่ หลายกลุ่มเป้าหมายซึ่งภาครัฐยังไม่สามารถเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ กระบวนการของภาคประชาสังคมสามารถลงลึกได้ สามารถลงไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้มาก ซึ่งจะช่วยตอบนโยบายอีกข้อหนึ่งของรัฐบาลในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จำนวนโครงการที่มีเสนอขอรับทุน 490 องค์กรแสดงให้เห็นถึงการตอบรับและเป็นกระแสเรียกร้องขององค์กรภาคประชาชนสังคม ซึ่งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลมีมติ ให้จัดทำคำของบประมาณโครงการนี้ไว้ต่อเนื่อง โดย ศอ.บต.ได้จัดทำคำของบประมาณเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งในปี 2561 องค์กรภาคประชาสังคมที่ยื่นเสนอโครงการแล้วยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณก็จะมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถเดินงานตามโครงการที่เสนอได้ ส่วนองค์กรที่ได้รับทุนไปแล้วก็จะมีการประเมินเพื่อสนับทุนให้เกิดการพัฒนาเชิงคุณภาพยิ่งขึ้น ผู้เขียนทราบมาเพิ่มเติมว่า องค์กรที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพราะแผนงานยังไม่ผ่านนั้น ล่าสุดได้รับเงินสนับสนุนองค์กรละ 20,000 บาทเพื่อที่จะพัฒนาแผนงานและตัวองค์กรให้สามารถเขียนแผนทำงานใหม่ในปี 2561 นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากร ศอ.บต. กล่าวว่า ในปี 2561 ศอ.บต.ของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่อเนื่อเพื่อกระจายงบประมาณให้องค์กรภาคประชาสังคมที่มีความตั้งใจอย่างทั่วถึง องค์กรภาคประชาสังคมที่ขอรับทุนไม่จำเป็นต้องเชียร์ภาครัฐ แต่ขอให้เอาความจริงไปบอกประชาชนโดยไม่มีการบิดเบือน ซึ่งแนวทางในปี 2561 ก็จะคำนึงถึงเนื้องานในเชิงคุณภาพ ขณะเดียวกันองค์กรที่ยังไม่ได้รับทุนหรือเป็นองค์กรน้องใหม่ก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา และมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองด้วย หลักคิดตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่า น่าสนใจ คือ รัฐเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ยังไม่เข้มแข็งได้มีโอกาสเรียนรู้ผิดถูก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากร ศอ.บต. กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคม ทำหน้าที่เปรียบเหมือนโซ่ข้อกลาง ที่นำงบประมาณไปสร้างประโยชน์สู่ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยนำข้อเท็จจริงของภาครัฐไปสู่ชาวบ้านและนำปัญหาข้อคิดเห็นของประชาชนกลับมาสู่รัฐเพื่อสรุปถอดบทเรียน ทั้งนี้โครงการที่ผ่านมา มีการขยายพื้นที่กิจกรรมออกไปยังพื้นที่รอบนอก ไม่จำกัดเฉพาะในเขตเมือง คิดเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1 และยังมีความหลากหลายในเรื่องสาขากลุ่มอาชีพ “สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงคือ บรรยากาศ เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในนโยบายภาครัฐก็จะเกิดความร่วมมือร่วมใจ นำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหา ไม่ว่า จะเป็นนโยบายการพูดคุยสันติภาพหรือนโยบายสำคัญของภาครัฐ” สำหรับโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งผลักดันโดยคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโดยให้ ศอ.บต.เป็นกลไกลขับเคลื่อน ประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมใน 10 ประเด็น คือ 1) การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2) การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยา 3) การสร้างความเข้าใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน 4) การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5) การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตประชาชน 6) งานขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 60-61 7) การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี 8) งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 9) งานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และ 10) งานพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ต้องติดตามกันต่อ ก็คือ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลที่มีการปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะจะเดินหน้าสานต่อทิศทางนี้อย่างไร