ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “ค่าย 3 ศิลป์” เป็นโครงการพัฒนาเทคนิคการเขียน การถ่ายภาพ และการทำสารคดีสั้น เพื่อการสื่อสารและเพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินงานโดย “กลุ่มหัวใจเดียวกัน” เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วิธีดำเนินงาน มีการเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าค่ายฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านการเขียนจำนวนรุ่นละ 25 คน จัด 3 ครั้งคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์และความสามารถทั้ง 3 สาขา มาถ่ายทอดเทคนิคประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมอบรมฟัง จากนั้นมีการเวิร์คชอปลงพื้นที่ แล้วต่างก็สร้างงานตามทักษะความชำนาญหรือตามความสนใจ ในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์และสัมผัสทักษะความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งมีลักษณะหลากหลายมาก ทั้งเยาวชนระดับมัธยมปลาย อุดมศึกษา คนทำงานสื่อ ข้าราชการ ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือบุคคลที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ เพราะเธอคือผู้ใหญ่บ้านหญิง หรือ “นายบ้านหญิง” แห่งอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ชื่อว่า “วราภรณ์ เงินราษฎร์” ผู้มีอัธยาศัยที่ดีเยี่ยม มีรอยยิ้มแต่งแต้มใบหน้าตลอดเวลา และที่สำคัญ มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่งในการเปิดใจเรียนรู้ หยิบสมุดปากกาจดบันทึกสิ่งที่ตนเองสนใจอยู่ตลอดเวลาขณะรับฟังวิทยากรบรรยาย กระทั่งในที่สุดเธอเลือกที่จะผลิตผลงานเขียนของตนเองชิ้นหนึ่ง เป็นชิ้นที่อรรถาธิบายทั้งตัวตนของเธอและทักษะการเขียนในฐานะ “นักเขียนใหม่” ได้อย่างน่าสนใจ เธอบอกเล่าว่า ผ่านมาหลายปีบนเส้นทางการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ยามที่ใครถามว่าทำอะไรหรือเป็นอะไร เมื่อเธอตอบว่า “เป็นผู้ใหญ่บ้าน” หลายคนอาจทึ่งในความเป็นผู้ใหญ่บ้านหญิง แต่ในทัศนะของตัวเธอเอง กลับคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด แล้วที่มาล่ะเป็นอย่างไร เธอเขียนอธิบายถึง “ก้าวที่เคยก้าว” ว่า เราต่างก็มีเส้นทางเดินในชีวิตที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความต้องการของแต่ละบุคคล เธอเกิดและเติบโตที่บ้านเลขที่ 18 ม. 5 ต. ธารโต จ.ยะลา ที่นี่ได้ให้ชีวิต การศึกษา หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ โดยมีพ่อและแม่เป็นผู้อบรมสั่งสอนเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ตั้งแต่จำความได้ เวลาที่ญาติผู้ใหญ่ให้เงิน พ่อจะไม่ให้รับ สั่งห้ามเด็ดขาดในการที่จะหยิบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ครอบครัวไม่ได้มีฐานะ แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของผู้เป็นบิดามารดา ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด พ่อทำสวน แม่เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกทั้ง 4 คน โดยให้ความสำคัญกับการศึกษา ส่งลูกทุกคนเรียนจบปริญญาตรี “ตลอดระยะเวลาที่เรียนหนังสือ พวกเราจะกลับบ้านในวันหยุดแทบทุกสัปดาห์ และนี่กระมังที่เป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันของครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่ไหนใจก็อยากกลับมาหา เมื่อเรียนจบระดับอนุปริญญาข้าพเจ้าก็ได้ไปทำงานที่เกาะสมุยเป็นเวลา 2 ปี จากนั้นเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ และศึกษาภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครจนจบปริญญาตรี” ทำงานในกรุงเทพฯ เกือบ 20 ปี เมื่อต้องแต่งงานและมีครอบครัว ทำให้ต้องลาออกจากงาน และใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่อยู่ได้ไม่ถึงปี ชีวิตผกผันทำให้ต้องกลับมาอยู่ที่ธารโต บ้านเกิด และนั่นทำให้เป็น “ก้าวใหม่” ในชีวิต เธอเขียนเล่าว่า ทำงานในตำแหน่งสารวัตรกำนันก่อน ก่อนที่ต่อมาจะได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน นั่นคงเป็นเพราะความปรารถนาที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจว่า ถึงอย่างไรก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน เพื่อตอบแทนคุณผู้มีพระคุณและตอบแทนแผ่นดินเกิด สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจ คือ การที่เธอเขียนบอกเล่าถึงบรรยากาศของถิ่นเกิดว่า “ธารโตเป็นเมืองเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าเขา พื้นที่อุดมสมบูรณ์ อากาศดี ผู้คนน่ารัก ถึงแม้จะมาจากหลากหลายพื้นที่ แต่ที่นี่อยู่กันด้วยความรักและสามัคคีฉันญาติ พี่น้อง โดยเห็นได้จากการมาร่วมงานส่วนรวม เช่นงานวัดทอดผ้าป่า ทอดกฐิน การพัฒนาวัดและเส้นทางหมู่บ้าน การสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ที่สืบทอดต่อจากผู้นำคนก่อน” นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ กรอบคิดหรือปรัชญาในการทำงานของเธอ เช่นที่เธอเน้นย้ำว่า สิ่งใหม่ที่นำมาใช้ในการทำงานคือ การเน้นความเป็นทีม มีอะไรต่างก็ปรึกษาหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน การทำงานโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่นำมาใช้ให้เกิดขึ้นในชุมชน นั่นคือ ความรับผิดชอบ (ทุกคนเมื่อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำหน้าที่ของตนให้เต็มความสามารถ) ความโปร่งใส (เมื่อได้รับงบประมาณหรือโครงการต่างๆ มา จะลงโครงการเต็มจำนวน และชี้แจ้งเรื่องค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้รับทราบ) การมีส่วนร่วม (ทุกกิจกรรมจะเข้าที่ประชุม แจ้งให้ทราบ หาแนวทาง ปฏิบัติ ขอบคุณ) ท้ายที่สุด เธอสะท้อนถึง “ปณิธาน” ในการปฏิบัติหน้าที่ว่า “ก้าวที่เดินต่อ” ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เกิดการยอมรับในความเป็นผู้นำหญิง แต่ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นในช่วงการเป็นสารวัตรกำนัน ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าทำอะไรก็ต้องทำจริงจังและทุ่มเท โดยไม่หวังผลอะไร แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำก็ยิ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การยอมรับจึงค่อยๆ เกิดขึ้น กระทั่งได้รับการเสนอชื่อให้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ได้รับการทาบทามให้เป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆ มากมาย เช่น วัฒนธรรมอำเภอ และจังหวัดยะลา กรรมการสถานศึกษา 3 สถาบัน และรองประธานคณะกรรมการตำรวจ สภ.ธารโต นี่นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลแห่งความตั้งใจ มุ่งมั่นและทุ่มเท ในช่วงเวลา 6 ปี “เราต้องเป็นผู้ให้” “ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ” “ต้องเก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์” “เราสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่เจอ” “ที่สำคัญที่สุดคือการรู้บุญรู้คุณ ตอบแทนคุณผู้มีพระคุณ และคุณของแผ่นดิน” เหล่านี้คือแง่คิดสำคัญที่ถูกกลั่นจากประสบการณ์มาเป็นเนื้องานจริงที่เกิดขึ้น ก่อนจะแปรมาเป็นถ้อยอักษราซึ่งเธอได้อาศัยจากประสบการณ์และการเรียนรู้ มาผสมผสานกับทักษะแนวคิดใหม่ที่ก่อให้เกิด “แรงบันดาลใจ” สำคัญ ให้กล้าลงมือเขียน โดยยืนยันผ่านทางคำพูดว่า “เชื่อเถอะ หากเราตั้งใจจริง ไม่ว่าทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ” และ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” จริงๆ เพียงแค่ทำทุกอย่างด้วยหัวใจ เธอสรุปไว้อย่างแหลมคมและชวนคิด