ตีโฉบฉวย / เสือตัวที่ 6 การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่มีวาระซ่อนเร้นในการยุแหย่ บ่มเพาะ ปลุกระดมให้เกิดความคิดความเชื่อกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ให้เกิดความเห็นต่าง จนนำไปสู่ความเกลียดชังคนไทยในพื้นที่อื่นรวมทั้งพี่น้องร่วมแผ่นดินที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน จนเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อประโยชน์ของคนระดับแกนนำโดยอาศัยกลุ่มคนในพื้นที่ที่ตกเป็นเหยื่อให้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้สู่ความบาดหมางกับรัฐและคนส่วนใหญ่มาอย่างยาวนาน หากแต่ว่าในวันนี้ ขบวนการร้ายเหล่านั้น เริ่มเข้าสู่ทางตัน หลายยุทธศาสตร์การแบ่งแยกได้ถูกฝ่ายรัฐจับทางได้ และนำไปสู่การปิดช่องว่างทางใจระหว่างรัฐกับพี่น้องประชาชนคนพื้นถิ่นได้อย่างเห็นมรรคเห็นผล ทำให้การสร้างสถานการณ์เลวร้ายให้เห็นถึงความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐแทบจะเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด การไล่ล่าด้วยนักรบติดอาวุธเชิงจรยุทธ์เกาะติดพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ซ่องสุมให้การสนับสนุนติดกับป่าเขา ตั้งแต่แม่ทัพภาค 4 คนก่อนๆ จนถึงแม่ทัพคนปัจจุบัน เป็นการปฏิบัติการเชิงรุกเข้าใส่กลุ่มคนหัวรุนแรงที่พยายามก่อเหตุร้ายอย่างไม่ลดละให้มีโอกาสน้อยลงจนแทบจะเอาตัวไม่รอด เหตุร้ายรายวันจึงลดลงแทบจะไม่หลงเหลือพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้สร้างความไม่สงบได้อย่างหลายปีที่ผ่านมาอย่างสนุกมือ ประกอบกับยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในการแก้ปัญหาความไม่สงบปลายด้ามขวานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ถูกแม่ทัพนายกองรุ่นแล้วรุ่นเล่า นำมาใช้อย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมและต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ได้บีบบังคับให้แกนนำนักคิดระดับนำของขบวนการต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐไปสู่แนวทางการต่อสู้ทางความคิดมากขึ้นอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก หลายๆ ปรากฏการณ์ของขบวนการจึงแปรเปลี่ยนไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองระดับนโยบายของชาติ ผ่านนักการเมืองบางคนที่แฝงตัวอยู่ในทุกองคาพยพ และพร้อมจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบในการต่อสู้กับรัฐ สู่ได้รับการตอบสนองตามที่แกนนำขบวนการแห่งนี้ต้องการในระดับสูงสุด เวทีการพูดคุยสันติสุข จึงเป็นเวทีระดับยุทธศาสตร์ของขบวนการร้ายแห่งนี้ที่ประสงค์จะใช้เวทีนี้ ต่อสู้ทางความคิด นำเสนอความต้องการของขบวนการโดยแอบแฝงว่าเป็นความต้องการของคนในพื้นที่และพร้อมที่จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ที่คนในพื้นที่ได้รับการตอบสนองตามวิถีที่กลุ่มตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับของรัฐให้คนในพื้นที่ปกครองดูแลกันเองตามวิถีที่กลุ่มตนต้องการ การยอมรับให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง การยอมรับให้ใช้กฎทางศาสนาเป็นกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ การยอมรับให้การเรียนการสอนทางศาสนาเป็นทางเลือกหลักสำคัญมากกว่าการเรียนสายสามัญทั่วไป รวมทั้งการยอมรับให้คนในพื้นที่มีวิถีชีวิตตามที่ความเชื่อความศรัทธาในหลักศาสนาต้องการ ในขณะที่การยอมรับนับถือของรัฐเฉกเช่นเดียวกับการเป็นพื้นที่พิเศษก็เป็นเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ของคนกลุ่มนี้ เป็นต้น เหล่านี้คือเป้าประสงค์ระดับยุทธศาสตร์ที่มาเหนือความคิดธรรมดาทั่วไป เมื่อคนระดับนำของขบวนการแห่งนี้ ไม่สามารถขับเคลื่อนการต่อสู้ไปสู่เป้าหมายเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาดอย่างสะเปะสะปะ เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นว่า มีความขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างรัฐผู้ปกครองกับคนในพื้นที่ท้องถิ่น หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐผู้ปกครองที่มีต่อคนพื้นถิ่นอย่างกว้างขวาง หรือการพยายามแสดงออกให้ประชาคมโลก เห็นว่าคนในพื้นที่ท้องถิ่นแห่งนี้ มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองซึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่รัฐไทย อันเป็นเงื่อนไขไปสู่การตัดสินใจด้วยคนในท้องถิ่นเองว่าจะเลือกอยู่กับฝ่ายใด ตามกติกาการกำหนดใจตนเอง (RSD) หากแต่กระบวนการต่อสู้ทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาเหล่านั้น ถูกฝ่ายรัฐตามแก้ไข ลดความขัดแย้งและทำลายความพยายามใดๆ ให้กาต่อสู้ต้องเดินไปสู่เป้าหมายตามเงื่อนไข RSD เหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีควันหลงการก่อเหตุร้ายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก อันเกิดจากกลุ่มคนที่มีความคิดสุดโต่ง นิยมความรุนแรงที่ชีวิตนี้ ก็ไม่ยอมลดราวาศอก หรือเปลี่ยนความคิดความเชื่อใหม่ แนวทางใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้ของคนกลุ่มนี้ จึงคงมีอยู่ต่อไปตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่พลั้งเผลอหรือเปิดโอกาสให้ก่อเหตุร้ายได้ ด้วยเหตุนี้ แม่ทัพภาค 4 คนปัจจุบันจึงต้องใช้กองกำลังติดอาวุธแบบจรยุทธ์ เกาะติดพื้นที่ล่อแหลมต่างๆ ที่ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของขบวนการซ่องสุมเตรียมก่อเหตุร้ายให้ได้เสียก่อนคนพวกนี้จะลงมือและกลับเป็นฝ่ายหลบหนีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่มีทางก่อเหตุร้ายได้อีกต่อไป โดยร่วมกับใช้วิธีจำกัดเสรีภาพของ “แนวร่วม” ขบวนการ ในการให้ความช่วยเหลือไว้ก่อน ควบคู่กับการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ โดยปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้เข้ากับสถานการณ์ โดยนำ ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ ออกลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ และกดดัน เพื่อจำกัดเสรีการปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เป้าหมาย และค้นหาแหล่งหลบซ่อน พื้นที่ฝึก พื้นที่พักพิง เพื่อทำลายความพยายามในการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อชิงความได้เปรียบให้ได้มาซึ่งภารกิจในการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลตามแนวทางสันติวิธี ตามแนวทางยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ถึงกระนั้นก็ตาม แม่ทัพภาคที่ 4 ยังมีความเชื่อว่า แนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ ก็ต้องใช้แนวทางสันติวิธี ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การต่อสู้ในปัจจุบันของขบวนการ โดยกล่าวว่า “การพูดคุยเท่านั้นที่จะเป็นการทำความเข้าใจ เป็นหลักในการนำมาซึ่งการร่วมกันแก้ไขปัญหา ที่ต้องใช้ความเข้าใจ เข้าถึงปัญหา และเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ผ่านการพูดคุย นำมาสู่การแก้ไขด้วยแนวทางสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ยึดหลักความถูกต้อง ไม่สร้างความแตกแยก เป็นกลาง สร้างความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่สุด ไม่ตึง และไม่หย่อนเกินไป หากแต่อยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความหลากหลายภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม การสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เข้าไปให้ถึงความต้องการของพี่น้องประชาชน แล้วนำมาเสนอต่อผู้บังคับบัญชาสู่แนวทางแก้ไขปัญหา” อันเป็นไปในแนวทางยุทธศาสตร์ที่ว่า สุดยอดของการต่อสู้คือ การเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ โดยไม่ต้องรบ หากแต่คำถามอยู่ที่ว่า การชนะโดยไม่ต้องรบนั้น จะเป็นผลสำเร็จของฝ่ายใดมากกว่ากัน