ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เรื่องราวเกี่ยวกับ “ไม้กฤษณา” นับเป็นอภิมหาตำนานที่ถูกกล่าวขานกันมาเนิ่นนาน เพราะมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในเนื้อไม้และน้ำมันกฤษณา มีค่าเปรียบประดุจ “ทองคำ” เลอค่า และที่สำคัญ เป็นผลผลิตซึ่งมีแหล่งกำเนิดเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น จึงเป็นเป้าหมายที่ต้องการของผู้คนจากทั่วโลก กระทั่งประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโบราณมีการบันทึกไว้ว่า ไม้กฤษณาเป็นสินค้าต้องห้ามสำหรับคนทั่วไปในบางพื้นที่ ถึงขนาดมีการตรากฎหมายให้เป็นสินค้าที่ค้าขายได้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น บริเวณคาบสมุทรมลายู หรือที่เรียกขานกันว่า “คาบสมุทรทองคำ” ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน ยุคอดีตเป็นแผ่นดินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะแหล่งที่มีทรัพยากรสำคัญมากมาย กลายเป็นหมุดหมายการค้าขายสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ด้วยตั้งอยู่ในเส้นทางค้าขายทางเรือระหว่างจีนกับอินเดีย เปอร์เซียและอาหรับ กระทั่งต่อมาถูกเปรียบเทียบเป็นประตูเชื่อมระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ดังปรากฏตำนานและเอกสารต่างๆ จำนวนมาก สินค้าที่มีการซื้อขายกัน ได้แก่ เครื่องเทศ ของป่า สินแร่ชนิดต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ “ไม้หอม” ซึ่งเป็นที่ต้องการมากทั้งในอินเดีย อาหรับ และย่านเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งนี้ไม้หอมที่สำคัญ ได้แก่ กำยาน กฤษณา จันทน์แดง ฝาง แฝก นูล ฯลฯ ดังปรากฏข้อมูลหลักฐานในหนังสือ “ปัตตานี การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต” โดย รศ.ดร.ครองชัย หัตถา ระบุว่า โดยเฉพาะกำยานจากสยามและคาบสมุทรมลายูนั้นมีชื่อเสียงมาก ถือเป็นกำยานชั้นดีของโลก ปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันอยู่ เช่น เครื่องหอมที่ทำจากส่วนผสมของกำยานซึ่งผลิตในอินเดียและแถบตะวันออกกลางก็เรียกว่า “ไซมีส เบนโซอีน” (Siamese Benzoin) เป็นต้น ไม้หอมเหล่านี้เป็นที่ต้องการมากทั้งในแถบอาหรับ อินเดีย และยุโรป สำหรับประเทศไทย ไม้กฤษณา ถูกจัดส่งในฐานะเป็นเครื่องราชบรรณาการ และเป็นสินค้าส่งออกไปเมืองจีน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เพราะเป็นที่ต้องการของราชสำนักจีนเป็นอย่างมาก รวมถึงญี่ปุ่น ส่วนฝั่งตะวันตก สรรพคุณของกฤษณา ขจรกระจายไกลไปถึงอาหรับ เปอร์เซีย กรีก โรมัน อียิปต์โบราณ เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้กฤษณาสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และตำนานไม้กฤษณาชนิดที่ดีที่สุดในโลกคือไม้กฤษณาที่มีอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน ดังมีการบันทึกกันไว้เป็นเรื่องราวเด่นชัดจากหลักฐานสมัยอยุธยาในจดหมายของบริษัท อินเดียตะวันออก พ.ศ.2222 ที่ระบุว่า ไม้กฤษณาที่ดีที่สุดในโลกคือไม้กฤษณาจากบ้านนา (Agillah Bannah) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และแหล่งผลิตไม้หอมเพื่อการส่งออกมาตั้งแต่อดีตคือแถบดงพญาไฟ แถบบ้านบุเกษียร ลำคลองกระตุก บุตาชุ ฯลฯ หรือบริเวณที่เรียกว่า “เขาใหญ่” ในปัจจุบัน ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับไม้กฤษณาปรากฏอยู่มากมาย ทั้งในฐานะเครื่องราชบรรณาการ หรือในฐานะสินค้าออกที่ขึ้นชื่อของสยาม ยุคก่อนหน้าเมื่อปีพุทธศักราช 1888 นับตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ปรากฏหลักฐานอ้างอิงเป็นครั้งแรกในหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย มีข้อความกล่าวถึงกฤษณาอยู่หลายตอน เช่น บทพรรณาพรรณพืชหอมในอุตตรกุรุทวีปว่า “มีจวงจันทร์กฤษณาคันธา ปาริกชาติ นาคพฤกษ์ (กระทิง) ลำดวน จำปา โยธกา มาลุตี มณีชาต บุตรทั้งหลาย อันมีดอกอันงามตระการแลหอมกลิ่นฟุ้งขจรไปบ่มิรู้วาย” หรือตอนที่พรรณาตัวนางแก้วที่ใช้ไม้กฤษณาเป็นเครื่องประทินผิวว่า “หอมดังแก่นจันทร์กฤษณาอันบดแล้วปรุงด้วยเครื่องหอมทั้ง 4 อย่าง” ต่อมา สมัยอยุธยาตอนต้น มีการออกกฎหมายให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันดูแลไม้หอม ในพระไอยการอาชญาหลวง พ.ศ. 1895 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในมาตราที่ 42 ว่า มาตราหนึ่ง “ท่านใช้ให้เป็นนายกองยุกรบัตรไปดูไม้กฤษณา นฤมาดงาช้างจันทแลไม้หอม ถ้าลักเอาของท่านไว้ก็ดี ขายเสียในกลางป่าก็ดี ให้ทวนแล้วให้ไหมจัตุรคูณ” ในอีกแง่มุมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเครื่องราชบรรณาการ ปรากฏหลักฐานว่า มีการส่งไม้กฤษณาเป็นเรื่องราชบรรณาการไปยังประเทศมหาอำนาจอยู่เนืองๆ เช่น พ.ศ.1930 ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงจีนในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1, พ.ศ.2101 สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ, พ.ศ.2135 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, พ.ศ.2208 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ.2272 หรือการส่งไม้กฤษณาเป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงญี่ปุ่นสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2166 สมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ.2172 และสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2229 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการส่งออกไม้กฤษณาในฐานะสินค้าออกของสยามอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฯลฯ สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งการค้าเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับพื้นที่แถบปลายแหลมมลายู มีคู่ค้าทั้งจีน ญี่ปุ่น อาหรับ อินเดีย โปรตุเกส ฮอลันดา ฯลฯ ทำให้สามารถค้าขายสินค้านานาชนิด ทั้งหนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า และหนึ่งในสินค้าออกสำคัญที่สามารถจัดหาได้ตามความต้องการของตลาด คือ กฤษณาลพบุรี กฤษณา ไม้จันทน์ และยางกฤษณา ข้อมูลในหนังสือ “หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า การค้าอยุธยา สมัยพุทธศตวรรษที่ 22323” สะท้อนว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีการส่งออกไม้กฤษณาถึงปีละ 60-70 หาบ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้น ออกพระศรีเนาวรัช ได้สัมปทานผูกขาดการส่งออกไม้กฤษณาเป็นเวลานานถึง 30 ปี หลังจากนั้น พระคลังสินค้าได้ทำการค้าไม้กฤษณาเอง ตลาดไม้กฤษณาอยู่ที่ฮินดูสถานไฮเดอราบัด และเมืองแถบแคว้นเบงกอล กลุ่มผู้ใช้ไม้กฤษณา คือ ตุรกีและอารเบีย ส่วนใหญ่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม สำหรับเรื่องราคาไม้กฤษณา มีการบันทึกไว้ว่า ราคาไม้กฤษณาอย่างดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยู่ที่หาบละ 16 ชั่ง ส่วนที่คุณภาพด้อยกว่าซึ่งขายที่เมกกะนั้น “ราคาถึงฟราเซลล์ (Frasell) ละ 300 เหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบหาบละ 1,500 บาท” ซึ่งนับว่ามีราคาสูงมาก ตราบกระทั่งปัจจุบัน ตำนานเรื่องไม้ไม้กฤษณายังคงเป็นที่จดจำและโหยหาของผู้คน เพราะสรรพคุณหรือคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเนื้อไม้ชนิดนี้ ล้วนมีมูลค่าครอบคลุมในหลากหลายมิติ และที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกวันนี้ยังมีอยู่อย่างมากมายในผืนป่าอันสมบูรณ์นั่นเอง