เสือตัวที่ 6 ขบวนการต่อสู้กับรัฐในพื้นที่ปลายด้ามขวานยังคงปฏิบัติการต่อสู้อยู่ต่อไปอย่างไม่ลดละ ด้วยการกระทำอย่างเป็นกระบวนการพร้อมๆ กันในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเวที หลากหลายมิติการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยความรุนแรงจากการใช้อาวุธ เพื่อสร้างความไม่สงบ ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐกับผู้คนในพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อหวังจะสื่อสารไปถึงประชาคมโลกให้เห็นในประเด็นของความขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรง อันเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิการกำหนดใจตนเอง (RSD) ตามแนวทางของประชาคมระหว่างประเทศ ควบคู่กับการต่อสู้ในมิติทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเห็นต่างให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า คนในพื้นที่เป็นชาติพันธุ์ของตนเองและมีความแตกต่างจากคนในพื้นที่อื่นของประเทศ ทั้งเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ รวมทั้งเผ่าพันทางประวัติศาสตร์ เพื่อสื่อให้ประชาคมโลกเห็นถึงความมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เฉพาะคนในพื้นที่ท้องถิ่นตนเอง ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ อันเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการเดินหน้าเข้าสู่การการเรียกร้องสิทธิการกำหนดในตนเอง (RSD) ตามแนวทางของประชาคมระหว่างประเทศ ควบคู่กับการเรียกร้องให้เห็นถึงการละเลยหรือการปกครองจากรัฐที่เลือกปฏิบัติต่อพวกเขาอันเป็นคนในพื้นที่ท้องถิ่น การสร้างเงื่อนไขประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ แม้ว่าจะเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่หรือการสนับสนุนช่วยเหลือการดำรงชีวิตการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนในพื้นที่โดยรัฐ ก็ยังมีความพยายามในการหาช่องว่างของการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ในการชี้ช่องให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของรัฐ จนขยายผลถึงขั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมหรือกองกำลังติดอาวุธที่มีการออกหมายจับหรือการควบคุมตัว อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายของรัฐตามกระบวนการยุตธรรมก็ตาม แต่มักจะมีแนวร่วมขบวนการคอยหาช่องว่างหรือสร้างเรื่องให้สื่อไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่ท้องถิ่นอย่างกว้างขวางในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อมุ่งสู่การชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง อันเป็นอีกเงื่อนไงหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิการกำหนดใจตนเอง (RSD) ตามแนวทางของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งความพยายามในการต่อสู้ของคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ ยังคงดำรงความมุ่งหมายไปยังจุดหมายเดียวกันอย่างเข้มข้น นั่นคือการเดินหน้าไปสู่การมีอิสระในการปกครองตนเองของคนในพื้นที่โดยบรรดาแกนนำขบวนการทั้งหลายทั้งในพื้นที่ท้องถิ่นแห่งนี้ และพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองประเทศ ตลอดจนในองค์กรประชาคมระหว่างประเทศอย่างแนบเนียน การแยกกันเดิน แต่ร่วมกันดำเนินการต่อสู้กับรัฐ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันนั้น ดำเนินการโดยคนจากหลากหลายกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจและที่ร่วมขบวนการโดยไม่ตั้งใจ อาทิเช่น การต่อสู้เพื่อสร้างความไม่สงบในพื้นที่จากหลายหลายแนวทางด้วยกองกำลังติดอาวุธ โดยการสนับสนุนของผู้คนที่เป็นแนวร่วมขบวนการในพื้นที่และนอกพื้นที่นั้น มีปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้จะดูห่างหายเบาบางลงด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่หาได้หมดสิ้นไปเสียทีเดียวไม่ แม้กระทั่งต้นปี 2564 ก็มีเหตุการณ์คนร้ายลอบก่อเหตุป่วน 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส โดยเมื่อเวลาประมาณ 07.40 น. ได้ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดกองร้อย ทพ.4516 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจร่วมในการตรวจ COVID-19 เหตุเกิดในพื้นที่ ม.7 บ.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 31 ม.ค.2564 การสร้างความไม่สงบด้วยความรุนแรงในกรณีที่คนร้ายจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณบ้านไอร์กาแซ ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งฝังไวัใต้พื้นถนนจนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้รถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.ศรีสาคร ถูกแรงระเบิดกระเด็นพลิกคว่ำและพังเสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้รับบาดเจ็บทันที 5 นาย และเหตุร้ายต่อมาเมื่อ วันที่ 6 ก.พ.คนร้ายสองคนขับขี่รถ จยย. ไล่ยิงชาวบ้านที่ขับรถยนต์มาตามเส้นทางบริเวณถนนหน้ามัสยิดบ้านบากู ต.บากู อ.ทุ่งยางแดง จนได้รับบาดเจ็บ แม้จะมีเด็กชายวัย 10 ขวบนั่งมาด้วยอันเป็นความพยายามในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ให้ยังคงครุกรุ่นอยู่ต้อไป และเมื่อ 13 ก.พ.64 ขณะที่กำลังพลทหารพราน นั่งรถกระบะหุ้มเกราะกลับฐานที่ อ.ระแงะ นราธิวาส ถึงสะพาน ถูกคนร้ายที่ซุ่มในพงหญ้ารกริมทาง กดระเบิดแสวงเครื่องประกอบไว้ในถังแก๊สขนาด 25 กก. ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และในวันเดียวกัน มีเหตุคนร้ายลอบขว้างระเบิดข้ามกำแพงจากฝั่งโรงเรียนรือเสาะวิทยา ม.2 ต.รือเสาะ เข้าไปตกที่บริเวณถังใส่ขยะข้างลานจอดรถของแฟลตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ ทำให้รถยนต์ที่จอดอยู่ที่ลานจอดรถใต้ถุนแฟลตได้รับความเสียหาย 3 คัน จากทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างของความพยายามดำรงความไม่สงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง พร้อมๆ กับตัวเล่นในอีกมิติหนึ่งซึ่งก็คือการพยายามสร้างเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเห็นต่างให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยแนวร่วมในนามของกลุ่มคนทั้งเอกชน (NGO) และภาคประชาสังคม (CSO) ที่แฝงตัวอยู่ในสถานศึกษาในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ตลอดจนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มทางสังคมต่างๆ หลากหลายรูปแบบ เพื่อดำเนินการแยกกันเดิน แต่ร่วมกันตี เพื่อเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการมีอิสระในการปกครองดูแลกันเองของคนในขบวนการร้ายแห่งนี้ และที่สำคัญคือ กลุ่มคนระดับนำที่เป็นถึงอาจารย์และนักวิชาการในสถาบันระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ที่แฝงตัวอยู่เป็นตัวช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิด ผ่านเวทีทางวิชาการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มตัวแทนของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ผ่านการต่อสู้ทางความคิดในรูปแบบต่างๆ อย่างแยบยล หากแต่มีเป้าหมายเพื่อการสนองตอบความมุ่งประสงค์สูงสุดในการต่อสู้ของขบวนการ นั่นคือ การได้ผลสำเร็จมาโดยไม่ต้องรบ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการให้สิทธิในการดำรงอยู่ตามวิถีที่คนในพื้นที่ต้องการ การยอบรับการใช้กฎหมายทางศาสนาเป็นกติกาสำคัญในการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ และรวมถึงการยอมรับในการใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาราชการในโอกาสต่อไป พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนการต่อสู้ผ่านกลุ่มตัวแทนแนวร่วมในรูปแบบนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอำนาจเงินงบประมาณอยู่ในมือ นักการเมืองระดับพื้นที่ที่มีพรรคการเมืองต้นสังกัดเป็นตัวแทนที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยออกกติการะดับชาติและนโยบายสาธารณะที่เกื้อกูลต่อการบรรลุจุดหมายเดียวกัน นั่นคือการปกครองกันเองของคนเหล่านี้ได้ในที่สุด