ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ สัดส่วนของผู้นับถือศาสนาใน ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วย อิสลาม (86.1%), คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (5.7%), คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (3%), พราหมณ์-ฮินดู (1.8%), อื่นๆ รวม พุทธ, ไม่ระบุ (3.4%) ประเทศบรูไน อิสลาม (67%), พุทธ (13%), คริสต์ (10%), อื่นๆ (ความเชื่อพื้นเมือง ฯลฯ) (10%) และมาเลเซีย อิสลาม (60.4%), พุทธนิกายมหายาน (19.2%), คริสต์ (9.1%), พราหมณ์-ฮินดู (6.1%), ความเชื่อเรื่องวิญญาณ (5.2%) ปัจจุบัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไนดารุสซาราม คือ 3 ประเทศผู้นำมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีประชากรรวม 231 ล้านคน มาเลเซีย 27.4 ล้านคน และบรูไนดารุสสาลาม 408,146 คน ทั้ง 3 ประเทศ นำวิถีชีวิตแห่งอิสลามและการดำรงอยู่ตามหลักการศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องภายใต้แนวความคิดที่ดำรงความเป็นรัฐให้คงอยู่ นั่นก็คืออุดมการณ์อิสลามที่ท่านศาสดาได้นำมาเป็นรูปแบบในการปฏิบัติ อินโดนีเซียยึดมติประจำชาติที่เป็นวลีภาษาสันสกฤตว่า ภินเนกะ ตุงกาล อิคะ ตุงกาละ อิกะ (Bhinneka Tuggal Ika) หรือ "เอกภาพในท่ามกลางความแตกต่างกัน" ระบบการปกครองแบบ “สาธารณรัฐ” มีประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “หลักปัญจศีล” เป็นหลักในการปกครองประเทศ ประกอบด้วย 1.การนับถือพระเจ้าองค์เดียว 2.การเป็นมนุษย์ที่เจริญและคงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม 3.ความเป็นเอกภาพของอินโดนีเซีย 4.ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน 5.ความยุติธรรมในสังคมอินโดนีเซียทั้งมวล "ความเป็นเอกภาพคือพลัง" (Bersekutu Bertambah Mutu) คือคำขวัญประจำชาติของมาเลเซีย ซึ่งใช้รูปแบบการบริหารประเทศระบบสหพันธรัฐ มีทั้งสิ้น 13 รัฐ ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภารูปแบบสหพันธรัฐ มี “พระมหากษัตริย์” อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หมุนเวียนมาจากรัฐต่างๆ บริหารประเทศโดยนายกรัฐมนตรี โดยมีสภาคู่ คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีประมุขประจำรัฐ สำหรับปรัชญาในการปกครองประเทศของบรูไน คือ “มลายู อิสลาม ราชาธิปไตย" (Melayu Islam Beraja : MIB) อำนาจสูงสุดทางด้านการปกครอง เป็นของ “สมเด็จพระราชาธิบดี” มีสภาต่างๆ ถวายความช่วยเหลือพระองค์ในการปกครองประเทศ ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรี” นับเป็นประเทศที่มีความเป็นหนึ่งด้านการเมือง ด้วยการรักษาโครงสร้างและรูปแบบระบบการเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมทางการเมือง ภายใต้ระบบอิสลาม โดยมีสุลต่านเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ พิจารณาภาพโดยรวมแล้ว ความเป็นมาเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสซาราม ที่มีต่อประเทศไทย จึงมีความน่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องผูกพันกันในหลากหลายมิติ ซึ่งภายหลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรนักการทูตแรกเข้าของกระทรวงการต่างประเทศ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “รู้จักประเทศเพื่อนบ้านผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์ : อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน” ครั้งนี้ ผู้เขียนยังมีโอกาสได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมมลายู และพูดคุยกับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนที่เข้ามาร่วมรับฟังด้วย ทำให้ทราบถึงทัศนคติต่างๆ ที่หลากหลาย นักศึกษาที่กล่าวถึง คือ กลุ่มเยาวชนจากโครงการรับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงาน ณ กระทรวงการต่างประเทศ ปี 2560 ซึ่ง กระทรวงฯ ได้เห็นชอบให้มีการจัดโครงการรับนักศึกษามุสลิมที่กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 3 และ 4 จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาฝึกปฏิบัติงาน ณ กระทรวงฯ ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน เป็นครั้งแรกในปี 2549 ด้วยเล็งเห็นว่าโครงการฯ จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระทรวงฯ และรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คนในพื้นที่ ตลอดจนสร้าง ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันโดยสันติของประชาชนต่างศาสนา อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เรื่องการทูตสาธารณะ ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ อันจะช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงฯ ต่อสาธารณชน การดำเนินโครงการฯ ทางกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สถาบันการต่างประเทศฯ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการฯ และได้มีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นครั้งที่ 12 เนื่องจากโครงการฯ ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นักศึกษาได้รับความรู้ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ปี 2560 นี้ สถาบันการต่างประเทศฯ จัดโครงการโดยเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในอนาคตของนักศึกษา และเป็นองค์ความรู้ในการสร้างประโยชน์ ให้แก่ชุมชนต่อไปได้ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อให้นักศึกษารู้จัก และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานของกระทรวงฯ เพื่อที่จะสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อคนในชุมชน เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของกระทรวงฯ อันจะเป็นการช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กระทรวงฯ ต่อไป 2.เพื่อส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยทำให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงานภาครัฐ และเห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3.เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และมีส่วนช่วยเปิดโลกทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของนักศึกษาในอนาคต อีกทั้งใช้เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน 4.เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ตลอดจนเปิดโอกาสให้เยาวชนในชายแดนใต้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสันติ หลังจากน้องๆ เยาวชนร่วมกันแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบด้วย ปันจักสีลัต ดีเกร์ฮูลู และการขับร้องอนาซีต รวมถึงอ่านบทกวี หลายคนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่เยาวชนเหล่านี้สนใจ คือ ความเป็น “มลายู” และความเป็น “อิสลาม” ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสซาราม ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาและเธอย่อมยอมรับในความใกล้ชิดผูกพันมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างแน่นอน