ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผ่านความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยเรื่องเล่าผ่านเส้นทางอารยธรรม เกาะเกี่ยวด้วยรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิต นั่นย่อมทำให้การทำความเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสซาราม มีประโยชน์เป็นยิ่ง โดยเฉพาะกับความเป็นมาเป็นไปในอนาคตของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถสร้างตัวตนให้เข้มแข็งท่ามกลางกระแสตื่นตัวเรื่องความเป็น “ประชาคมอาเซียน” เพราะการมีอะไรร่วมกันหรือคล้ายกันหลายประการ มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในมุมมองการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์กับประเทศไทย ฯลฯ เมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้รับเกียรติจาก สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ เชิญให้ไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมหลักสูตรนักการทูตแรกเข้าของกระทรวงการต่างประเทศ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “รู้จักประเทศเพื่อนบ้านผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์ : อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน” สิ่งที่ตั้งใจพยายามนำมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกัน คือ การไล่เรียงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้วที่ชาวมลายู (ถูกจัดอยู่ในเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์) ซึ่งนับเป็นชนกลุ่มแรกในสุวรรณภูมิที่ใช้เรือแล่นเลียบชายฝั่ง กระทั่งกลายเป็น 1 ใน 5 ตระกูลภาษาที่ตั้งหลักแหล่งอย่างมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สุวรรณภูมิ) นั่นก็คือ กลุ่มตระกูลภาษาชวา-มลายู หรือ ออสโตรเนเซียน หรือ มาลาโยโพลินีเซียน เช่น พวกชวาและหมู่เกาะอินโดนีเซีย มลายู จาม ฯลฯ มีหลักแหล่งตามชายฝั่งและหมู่เกาะทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ รวมทั้งมอเก็นหรือ “ชาวเล” และ “เงาะ” คำว่า “มลายู” เป็นชื่อวัฒนธรรมแห่งชนชาติ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางตอนใต้ของสุวรรณภูมิก่อนยุค “อิสลาม” เข้ามาเผยแพร่ เดิมนับถือผีซึ่งก็คือชนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนจะกลายมาเป็นฮินดู-พราหมณ์ พุทธ และอิสลาม (ยุคมลายูลังกาสุกะ ศรีวิชัย) คนไทยยุคก่อนจะเรียกหัวเมืองทางภาคใต้สุดของแหลมทองว่า “ดินแดนมลายู” และเรียกรวมคนในกลุ่มประเทศดังกล่าวข้างต้นว่า “ชาวมลายู” แต่สำหรับชาวอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเรียกคนในภูมิภาคของประเทศดังกล่าวว่า “ชาวยะวอ” เหตุผลที่เรียกเช่นนี้เพราะศาสนาอิสลามที่มาเผยแพร่ในกลุ่มอาเซียนเป็นครั้งแรกโดยพ่อค้านักเดินเรือชาวอาหรับได้มาถึงเกาะ “ชวา” เป็นดินแดนแห่งแรกในอาเซียน คำว่า “ชวา” ก็คือ “ยะวอ” หรือ “ยะวา” นั่นเอง ต่อจากหมู่เกาะชวา ศาสนาอิสลามถูกเผยแพร่ไปตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย ตลอดทั้งแหลมมลายู และดินแดนทางตอนใต้ของไทย ซึ่งสมัยนั้นคือ “อาณาจักรศรีวิชัย” ใน “สุวรรณภูมิ” (แผ่นดินทอง) มีการจำแนกที่มาของ “ชนมลายู” ว่า พิจารณาในแง่สังคมวัฒนธรรม คำว่า “มลายู” หมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคมลายู (Nusantara) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.มลายูแท้ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนของตน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน 2.มลายูโพ้นทะเล ที่ได้เคลื่อนย้ายจากแผ่นดินเดิมด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ไปปรากฏที่ประเทศอังกฤษ ซาอุดีอาระเบีย สุรีนัม แอฟริกา หรือละตินอเมริกา ฯลฯ และ 3.มลายูที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในดินแดนของตน แต่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองหรือการปกครอง ทางประวัติศาสตร์ หลัง พ.ศ.1000 การค้าระหว่างโลกตะวันออก-ตะวันตก ทำให้บริเวณคาบสมุทรเติบโตขึ้นเป็นบ้านเมือง แล้วเป็นรัฐเอกราช นับถือพุทธ-พราหมณ์ ปะปนไปพร้อมกัน เช่น รัฐไชยา (สุราษฎร์ธานี-ชุมพร) รัฐตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช-สงขลา) รัฐปัตตานี (ยะลา-ปัตตานี) รัฐไทรบุรี (นับถือพราหมณ์-พุทธ เช่นเดียวกับรัฐปัตตานี) รัฐศรีวิชัย (อินโดนีเซีย) ฯลฯ การค้าทางทะเลของอินเดียกับจีน ผลักดันให้บ้านเมืองทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ เติบโตเป็นรัฐขนาดใหญ่จนเป็นอาณาจักรเช่นใน ชวา พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทย รัฐเหล่านี้นับถือ ผี-พราหมณ์-พุทธ ปะปนกัน แล้วเลือกเน้นศาสนาใดศาสนาหนึ่งภายหลัง ซึ่งรวมถึง “ศาสนาอิสลาม” ในอดีต นอกจากอิทธิพลจาก “อินเดีย” แล้ว ความเป็น “จีน” ก็ถูกหล่อหลอมมายังภูมิภาคแถบนี้ ดังกรณีของหลวงจีนฟาเหียน นักธรรมจาริกทางไกลแสนกันดาร หรือ พระภิกษุอี้จิง และครั้งสำคัญคือ สมุทรยาตราของ เจิ้งเหอ (ค.ศ.1405-1433) ก่อนจะถึงยุคอพยพครั้งใหญ่ของชาวจีนโพ้นทะเลช่วงอังกฤษครอบครองมาลายา และต้องการ “กุลีจีน” มาเป็นแรงงานในเหมืองแร่ดีบุก นำมาซึ่งการก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาที่สลับซับซ้อนอีกแบบหนึ่ง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีในพื้นที่นานัปการ ก่อนที่ในที่สุด “ชาติตะวันตก” จะมายึดและก่อความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีของโลกมลายูอย่างรุนแรง ภาพปัจจุบันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ประมาณ 4,000,000 ตารางกิโลเมตร (1.6 ล้านตารางไมล์) ประชากรมากกว่า 600 ล้านคน กว่าหนึ่งในห้า (125 ล้านคน) อยู่บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศาสนา โดยศาสนาพุทธมีผู้นับถือเป็นจำนวนมากใน ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และสิงคโปร์ ลัทธิบูชาบรรพบุรุษและลัทธิขงจื๊อมีผู้นับถือมากในเวียดนามและสิงคโปร์ ส่วนศาสนาคริสต์เป็นที่นิยมในฟิลิปปินส์ ภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย มาเลเซียตะวันออก และติมอร์-เลสเต โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในเอเชีย ส่วนติมอร์-เลสเตก็นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเช่นกัน เนื่องจากเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน ที่สำคัญ คือ “ศาสนาอิสลาม” เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนที่มากถึง 240 ล้านคน คิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด ส่วนมากจะอาศัยอยู่ที่ อินโดนีเซีย บรูไน และ มาเลเซีย รากความสัมพันธ์เช่นนี้ หากเปิดใจกว้างๆ พร้อมเรียนรู้ เก็บเกี่ยวข้อมูลประสบการณ์ และนำมาปรับใช้กับความเป็น “ประชาคมอาเซียน” นับว่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับพื้นที่ “ชายแดนใต้” ของไทย ซึ่งมีรากความสัมพันธ์คล้ายกัน ไว้ตอนหน้ามาติดตามในประเด็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับการฟังเสียงสะท้อนของเยาวชนชายแดนใต้ที่มีโอกาสมาฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงาน ณ กระทรวงต่างประเทศ ต่อรากเหง้าเชิงประวัติศาสตร์สัมพันธ์