ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และความมั่นคง มีอัตลักษณ์ทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงความลงตัวและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ดังกล่าว เพื่อสนองตอบต่อความต้องการตามวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และบริบทของการพัฒนาประเทศ” ประโยคข้างต้น คือสิ่งที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงการประชุม สรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 รอบ 6 เดือน และ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) หรือ ศปบ.จชต. ณ หอประชุมค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย กองพลทหารราบที่ 15 อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ด้วยความเป็น “พื้นที่พิเศษ” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดให้พื้นที่ 44 อำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา (4 อำเภอ คือ เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) เป็นการจัดการศึกษา “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงและบูรณาการงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและประชาชน ในฐานะที่ “การศึกษา” คือหัวใจสำคัญของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งว่ากันว่าได้จัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ยึดตามยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ “การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2579) นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2560-2562 เพื่อวางกรอบเป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษา ให้ประชาชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน และการพัฒนาประเทศเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ภายใต้แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อคนทุกคน และทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของแผนดังกล่าว คือ “ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21” โดยมี 6 ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานขับเคลื่อน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา เดิมนั้น ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) มีที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 อ.เมืองยะลา จ.ยะลา แต่ปัจจุบันได้ย้ายสำนักงานมาจัดตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จ.ปัตตานี และจะมีการทำพิธีเปิดอาคาร ศปบ.จชต. อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ โดย บุญรักษ์ ยอดเพชร ผอ.ศปบ.จชต. กล่าวว่า ศปบ.จชต. มีภารกิจเพื่อยกระดับการบริหารงานให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ที่ผ่านมา ดำเนินการภายใต้โครงการทั้งหมด 127 โครงการ งบประมาณ 2,777.737 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานภายใต้ 7 จุดเน้น ได้แก่ จุดเน้นที่ 1 การเสริมสร้างความปลอดภัยครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และสถานศึกษา จุดเน้นที่ 2 การพัฒนาคุณภาพการศึกษา จุดเน้นที่ 3 การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา จุดเน้นที่ 4 การผลิตคนและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการมีงานทำ จุดเน้นที่ 5 การศึกษาเพื่อความมั่นคง จุดเน้นที่ 6 การสร้างความรับรู้ความเข้าใจ จุดเน้นที่ 7 การบริหารจัดการ กลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มี 2 ระดับ คือ ระดับอำนวยการ มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และระดับการขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติงาน มี บุญรักษ์ ยอดเพชร เป็นประธาน จะมีการติดตามการทำงานตามแผนงานของแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่อง มีการเชิญคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง 5 จังหวัดในพื้นที่ นำเสนอแผนงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้แผนจัดการศึกษามีความสมบูรณ์ที่สุดก่อนจะประกาศใช้ ครอบคลุมไปถึงสถาบันและสถานศึกษาในพื้นที่มีจำนวนทั้งสิ้น 5,747 แห่ง ผู้เรียน 946,746 คน และครูผู้สอน 75,744 คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนหวนคิดถึงเรื่องราวของ “ศาสตร์พระราชา” ว่าด้วยการศึกษาชายแดนใต้ นับตั้งแต่ “หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ” สำหรับปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี เพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นมากขึ้น ในฐานะที่เป็น “ท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล” ตามพระราชหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานด้านการศึกษาที่เด่นชัด และลุมาถึงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ให้สืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปัจจุบัน สิ่งที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำมาโดยตลอดเกี่ยวกับการทำงานด้วยว่า ควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหน่วยงานและสถานศึกษาของตนเอง ตลอดจนผู้ปกครอง พี่น้องประชาชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 521 องค์กร ด้วยเมื่อมีความเข้าใจเกิดขึ้น ทุกคนจะมีส่วนเข้าถึง และร่วมพัฒนา ย่อมส่งผลให้ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เกิดขึ้นโดยเร็ว หากทว่าแม้จัดวาง “ยุทธศาสตร์” ที่ดีไว้ แต่หากการนำนโยบายไป “ปฏิบัติ” มีความหละหลวม ไม่สอดคล้อง เกิดช่องว่าง โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่อง “คน” ผู้เขียนเชื่อว่า ก็ไม่แน่นักว่ายุทธศาสตร์นั้นๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จได้