ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผ่านมา 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เมื่อผู้เขียนกับเพื่อนนักเขียนหนุ่ม “ชรินทร์ แช่มสาคร” เคยไปตามรอยตำนาน “ยุวชนทหารปัตตานีคนสุดท้าย” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างผู้คนที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยมาช้านาน แม้กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานีชายแดนใต้ ย้อนไปช่วงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นวันที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า นายยุนุ (ไม่ทราบนามสกุล) ชาวบ้านรูสะมิแล เป็นคนแรกที่เห็นทหารญี่ปุ่นก้าวเท้ารุกรานแผ่นดินไทย หลังจากนั้นจึงรีบวิ่งไปแจ้งข่าวต่อ นายละมุน เจริญอักษร ปลัดอำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งส่งข่าวต่อไปยัง น.อ.หลวงสุนาวิวัฒน์ (กิมเหลียง สุนาวิน) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น ประสานงานกับตำรวจ ทหาร พลเรือน ยุวชนทหาร นำมาซึ่งการต่อสู้อันดุเดือดเช่นที่ ชรินทร์ แช่มสาคร บันทึกไว้ใน “ยุวชนทหารปัตตานีคนสุดท้าย.. ตำนานสามัคคี.. ที่ใกล้ปิดฉาก” ว่า เวลาแห่งความโกลาหลนั้น ใครมีปืนหยิบปืน ใครมีมีดหยิบมีด ประธาน เลขะกุล เจ้าของร้านปืนกุ้นเซียะบราเดอร์ และ สมเกียรติ เวียงอุโฆษ สองเจ้าของร้านปืนในปัตตานี เอาปืนและกระสุนที่มีทั้งหมดในร้าน ให้กำลังฝ่ายไทยไปสู้กับทหารญี่ปุ่น พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหาร ผบ.พัน กองพันทหารราบที่ 42 กรมผสมที่ 5 ซึ่งนำกำลังทหารเข้าสู้ ถูกซุ่มยิงด้วยปืนกลบริเวณสะพานเดชานุชิต จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ถึงวันนี้ผู้คนยังเล่าขานว่า แม้ถูกยิง แต่ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหาร ก็ยังตะโกนให้ทหารสู้ต่อไป กาลครั้งนั้นมีวีรบุรุษผู้กล้า 40 ชีวิต พลีชีพเพื่อปกป้องแผ่นดิน  ตราบกระทั่งผ่านมาหลายปีจากเหตุการณ์ครั้งนั้น วันที่ 24 กันยายน 2550 ลมหายใจสุดท้ายของยุวชนทหารที่ชื่อ “สนั่น อาลีอิสเฮาะ” ก็สูญสิ้น ขณะที่ย้อนไปไม่ถึงเดือน สนั่น อาลีอิสเฮาะ กับ เนียน ศรีสุวรรณ ยุวชนทหารชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นเพื่อนกอดคอกันมาในวัยเด็ก และเป็นสหายร่วมรบกับกองกำลังทหารญี่ปุ่นเมื่อ 66 ปีที่แล้ว พยายามทำภารกิจเพื่อมาตุภูมิอีกครั้ง ด้วยการฟื้นวีรกรรมของยุวชนทหารจังหวัดปัตตานี มาเล่าขานกับผู้คนว่า “อดีต บรรพบุรุษเราร่วมรักษาผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ ปัจจุบันเรายังคงร่วมกันสร้างความสามัคคี” อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหวังเดินไปได้ไม่กี่ก้าว สนั่นอาลีอิสเฮาะ ซึ่งเป็นคนสุขภาพแข็งแรง เกิดล้มป่วยด้วยอาการเจ็บกระดูกสันหลังจนต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนจนยากต่อการเยียวยา สนั่น อาลีอิสเฮาะ หรือ อายีเจะยามาลูดิน อาลีอิสเฮาะ เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2466 เป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้อง 4 คน เจะฮะ อาลีอิสเฮาะ พ่อของสนั่น เป็นกำนันตำบลจะบังติกอ ส่วนแม่ คือ เจะฆอตีเยาะ อาลีอิสเฮาะ เป็นแม่บ้านและช่วยกิจการค้าขายของครอบครัว สนั่น เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนจะบังติกอ พอจบ ป.4 ก็ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ที่นี่เขาจึงได้คบหากับ เนียน ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนร่วมชั้น และเป็นเพื่อนยุวชนทหารร่วมรบ ทั้งความรัก ทั้งประวัติชีวิตของตระกูลที่ผูกพันกับแผ่นดินเกิด ทำให้เมื่อเกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้รอบใหม่ช่วงเริ่มต้น จึงเหมือนได้ปลุกเลือดรักชาติของชายชราวัย 84 ปี ขึ้นมาอีกครั้ง เวลานั้นเรามีโอกาสได้สนทนากับ อะดิลัน อาลีอิสเฮาะ ลูกชายของ สนั่น ซึ่งบอกเล่าว่า “คุณพ่อเคยพูดว่า อยู่มาจนอายุ 84 ปี ก็ไม่เคยเห็นว่าเหตุการณ์จะหนักหนาขนาดนี้ พ่อบอกเสียดาย การที่พ่อพยายามหยิบเรื่องยุวชนทหารขึ้นมาพูด เพื่อสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ที่คนปัตตานีต่อสู้กันมา ซึ่งก็คือความพยายามหาทางจะทำยังไงให้บ้านเมืองสงบโดยไม่มีการเลือกฝ่าย” สำหรับ “เนียน ศรีสุวรรณ” เขาเกิดวันที่ 1 เมษายน 2468 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พ่อชื่อ มาก แม่ชื่อ นัย มีอาชีพทำนา เนียนเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้อง 7 คน หลังเรียนจบ ป.4 จากโรงเรียนเทศบาล 2 (วัตตานีนรสโมสร) ก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ เขาเป็นเด็กวัด อาศัยวัดตานีนรสโมสรเป็นที่อยู่หลับนอน มีข้าวก้นบาตรสำหรับประทังชีวิต เวลานั้นเขามีเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันที่เป็นมุสลิมไม่กี่คน และหนึ่งในนั้นคือ สนั่น อาลีอิสเฮาะ  “เรียน ม.1 จนจบ ม.6 มาด้วยกัน กอดคอกัน เป็นนักกีฬามาด้วยกัน เป็นนักวิ่งผลัด ในทีมเราจะมีไทยพุทธ 2 คน มุสลิม 3 คน ก็ให้สนั่นเป็นหัวหน้าทีม เพราะเขามีฐานะทางบ้านดี เวลากินข้าวด้วยกันจะไปหาร้านอาหารอิสลาม เราไทยพุทธไม่มีปัญหา บางครั้งผมก็ไปนอนค้างบ้านเพื่อนมุสลิม” เขายังเล่าย้อนอดีตอีกว่า เวลานั้นเวลามีงานบุญ คนพุทธทำบุญเดือนสิบ จะนำข้าวต้มมัดไปให้เพื่อนมุสลิม งานวันฮารีรายอ เพื่อนมุสลิมก็เอา “ตูปะ” (ข้าวต้มมัด) มาให้กิน ก็เตะบอล แอบสูบบุหรี่มาด้วยกัน และยอมรับด้วยว่า ในยุคนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศนโยบายรัฐนิยม สร้างความอึดอัดให้กับทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ชีวิตดำเนินไปอย่างเรียบง่าย กระทั่งญี่ปุ่นบุก ขณะที่ทั้งคู่มีอายุเพียงประมาณ 16 ปี จึงได้กลายเป็นหนึ่งใน “ยุวชนทหารปัตตานี” สร้างวีรกรรมปกป้องแผ่นดินของชาวปัตตานี ใช้เวลาต่อสู้โรมรันราว 5 ชั่วโมง มีทั้งชาวบ้านธรรมดาและทหารเสียชีวิตรวมกันหลายคน ในที่สุด จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศยอมให้ญี่ปุ่นใช้เส้นทางผ่านประเทศเพื่อเคลื่อนทัพไปยังประเทศมาเลเซีย การต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นจึงยุติลง ทุกคนจึงนำอาวุธไปคืนที่โรงพัก เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สนั่น เนียน และเพื่อนๆ หวนกลับคืนสู่ชีวิตนักเรียนอีกครั้ง กระทั่งจบการศึกษา จึงต่างดำเนินชีวิตกันไปตามวิถี ขณะที่ “มิตรภาพ” ที่ก่อร่างกันมาไม่เคยจางหาย ถึงเวลานี้ ผู้คนต่างลับล่วงหล่นหายไปตามกาลเวลา ผู้ที่ยังอยู่ก็ยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคชีวิตกันคนละแบบ ภายใต้ปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ปัญหาความรุนแรงและความสูญเสียที่หนุนเนื่องหมุนวนกันเป็นวงรอบ และภาพตัดความสวยงามของมิตรภาพระหว่างคนต่างศาสนาที่ยังดำรงอยู่ ท่ามกลางปัญหาไฟใต้ที่ยังสุมรุมคลุมเครือในปัจจุบัน ผู้เขียนขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ยุวชนทหารปัตตานี” มาบอกเล่าอีกครั้ง เพื่อสะท้อนเรื่องราวในอดีตที่อาจสามารถบอกเล่าปัจจุบันได้ในหลายมิติ