ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนกระแสทะเลหมอกยังไม่มีทีท่าว่าจะสร่างซา แถมมีแต่จะเพิ่มปริมาณความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนจึงสนใจกรณี “อัยเยอร์เวงโมเดล” เป็นพิเศษ เพราะได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่มี “นัยสำคัญ” ต่อทิศทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งระบบ และส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือความมั่นคง ข้อมูลจากแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สะท้อนว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของโลกไปแล้ว เป็นที่ยอมรับว่าเกือบทุกประเทศในโลกนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เจริญเติบโตจนกลายเป็นสินค้าหลักในระบบการค้าระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว และในหลายประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอยู่ในอันดับที่ 1–3 ของ 10 อันดับแรกในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศนั้นๆ อีกด้วย สำหรับประเทศไทย มีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวมาก ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลาย มีทั้งแบบเชิงธรรมชาติ ทะเล ภูเขา น้ำตก เชิงศิลปวัฒนธรรม มีทั้งวัดวาอาราม พระราชวังโบราณ สถานที่สำคัญต่างๆ รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบสนองวิถีชีวิตคนเมือง อย่างบรรดาแหล่งช็อปปิ้ง สถานบันเทิง เป็นต้น ประกอบกับการบริการที่เป็นมิตรเอกลักษณ์ของคนไทยที่มีความอ่อนโยน ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจ โรงแรมรีสอร์ทไทยหลายๆ แห่งมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งค่าครองชีพที่หากเทียบกับประเทศอื่นแล้วถือว่าไม่สูงมากนัก และยังมีระบบการสื่อสารและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างมีความพร้อมหากเทียบกับประเทศใกล้เคียง ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 1 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ของประเทศเลยทีเดียว จนถึงขณะนี้ มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และประเทศในแถบอาเซียนมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแถบอาเซียนยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกมาก ทำให้แต่ละประเทศสมาชิกเริ่มตื่นตัว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสถานการณ์แข่งขันที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการและการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดในภาวะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มว่าจะมีการแข่งขันสูงต่อไป “บ้านป่าฮาลา สายน้ำปัตตานี น้ำตกมากมี บ่อน้ำร้อนนากอ” “ทะเลสาบภูเขา ทะเลหมอกแดนใต้ ผักน้ำสมุนไพร ซาไกดั่งเดิม” คือคำขวัญประจำตำบล ที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะป่าฮาลา-บาลา ป่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ที่นับเป็นความภูมิใจของชาวตำบลอัยเยอร์เวง และชาวจังหวัดยะลา ในทางการเมืองการปกครองนั้น ตำบลอัยเยอร์เวง แบ่งเป็น 11 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 818.72 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวมทั้ง 11,400 คน มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยทิศตะวันออกจดอำเภอฮูลูเปรัค (กริ๊ก) รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย และทิศตะวันตก จดอาเภอบาลิ่งรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ ระหว่างปี 2542-2546 องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ได้ทำการสำรวจบุกเบิก จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หนึ่งในโครงการพัฒนา คือ “จุดชมทะเลหมอกไมโครเวฟฯ” หรือ “จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า “บูเก๊ะเฉง” หรือ “ภูเขาเจ๊ง” เพราะกว่าจะเดินทางถึงก็หมดแรง ต้องทิ้งข้าวของจึงจะไปต่อได้ ต่อมา เมื่อ อบต.อัยเยอร์เวง มีการสำรวจบุกเบิกอย่างเป็นทางการ จึงได้ตั้งชื่อเป็น “เขาไมโครฯ” เพื่อให้เป็นสากลและจดจำได้ง่าย ท้ายที่สุดชื่อกลายเป็น “จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ก็เพราะต้องการประชาสัมพันธ์ตำบลอัยเยอร์เวงให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย กระทั่งปี 2557 อบต.อัยเยอร์เวง จึงว่าจ้าง อ.อุสมาน เจ๊ะซู อาจารย์แผนกสถาปัตย์ วิทยาลัยเทคนิคยะลา เพื่อเขียนแบบโครงการฯ และโครงการนี้ได้การบรรจุเข้าในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดยะลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องเพราะเป็นยุคสังคมออนไลน์ จึงทำให้กระแสทะเลหมอกอัยเยอร์เวง เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวอันซีนอย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นที่มาที่ อบต.อัยเยอร์เวง ได้เสนอโครงการ พร้อมแบบแปลนสมบูรณ์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวงเงินงบประมาณ 5 ล้าน (ปีงบประมาณ 2558) และโครงการดังกล่าวก็ได้รับการอนุมัติงบประมาณจานวน 5 ล้านบาทตามเป้าหมาย ตามด้วยโครงการพัฒนาซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นเงินงบประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการล้วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเบตง อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ด้วยเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จึงมอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา เป็นผู้รับผิดชอบในการทำสัญญาก่อสร้างตามแบบแปลนโครงการของ อบต.อัยเยอร์เวง ตามระเบียบพัสดุฯ แทนสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา ช่วงเวลาปลายปี 2557 ตั้งแต่ตุลาคม – ธันวาคม 2557 นักท่องเที่ยวเริ่มชักชวนกันมาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการตามมา โดยเฉพาะระบบการจัดการขยะ ความสะอาด ระบบจราจร การจำหน่ายอาหาร และระบบรักษาความปลอดภัย อบต.อัยเยอร์เวง โดยสภาสันติสุขตำบลอัยเยอร์เวง เวทีกลางของทุกภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร อบต. ส่วนราชการ องค์กร กลุ่มอาชีพ สตรี เยาวชน และผู้นำศาสนา จึงประชุมเพื่อป้องกันเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ และทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ผลสรุปปรากฏว่า ในที่ประชุมมอบหมายให้อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นพี่เลี้ยง และรับผิดชอบรักษาความปลอดภัยตามแนวถนน ส่วนทหารพราน ดูแลรักษาความปลอดภัยรอบนอก โดย อบต.อัยเยอร์เวง สนับสนุนงบประมาณจ้างเหมายามท้องถิ่น หรือ อส.ทท. (อาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยว) สมทบ และเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ล้วนเป็นมาตรการชั่วคราวที่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการบริหารจัดการตามระบบมาตรฐานของอุทยานแห่งชาติ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เปิดจุดชมทะเลหมอกอย่างเป็นทางการ ก็เกิดกระแสหลั่งไหลมาท่องเที่ยวในตำบลอัยเยอร์เวง-เบตง เป็นจำนวนมาก จึงนำไปสู่การกำหนดทิศทางและวางแผนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ไว้ตอนหน้ามาติดตามดูกันว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ อะไรบ้าง และแผนการเตรียมพร้อมในอนาคตจาก “อัยเยอร์เวงโมเดล”