ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เป็นที่กล่าวขานกันมานาน ว่าตลอดห้วงเวลาที่เกิดปัญหาวิกฤติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ยาเสพติด” ถือเป็นหนึ่งในภัยแทรกซ้อนที่ทำให้สถานการณ์แหลมคมและทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ข้อคำถามตามมาอีกมากมาย แม้มีความตั้งใจที่จะปราบปรามขบวนการยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ถึงขนาดที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำหนดให้เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ได้จัดตั้ง “ศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีการเปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันขบวนการยาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อเหตุรุนแรงในลักษณะการสนับสนุนหรือเอื้อซึ่งกันและกัน ผ่านการให้เงินทุนก่อเหตุเพื่อขยายพื้นที่และอิทธิพล ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่  ขณะเดียวกัน ว่ากันว่ากลุ่มก่อเหตุรุนแรงอาศัยผู้ติดยาเสพติดเป็นคนลงมือก่อเหตุอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ภาครัฐ เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ได้มีบทบาทแก้ไขในเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่นเดียวกับผู้นำศาสนาทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ประกาศและลงนามเป็นสัตยาบรรณร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตลอดหลายปีมานี้ หรือแทบเรียกได้ว่าภายใต้ประวัติศาสตร์การรุกไล่แก้ไขปัญหายาเสพติดในหลายๆ รัฐบาล ปัญหาเรื่องยาเสพติดนอกจากไม่ได้ลดจำนวนลง แถมจะมีอัตราและปริมาณเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ดังเห็นได้จากผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ รวมถึงที่ “ชายแดนใต้” ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ยาเสพติด” ประจวบเหมาะที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice-TIJ) ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายสหประชาชาติด้านกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญในการปรับปรุงนโยบายยาเสพติดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับรัฐบาลโดย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด มีวัตถุประสงค์สำคัญส่วนหนึ่งในการปรับนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดจากการใช้มาตรการที่รุนแรงกับทุกกลุ่ม ให้มีความเหมาะสม โดยแยกกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของประเทศโปรตุเกส จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบของประเทศโปรตุเกส และจัดการเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “โปรตุเกสโมเดล : กรณีศึกษาทิศทางใหม่นโยบายยาเสพติด” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ผลในเบื้องต้นที่ประชุมให้ความสนใจ และ TIJ ได้สรุปผลการศึกษาและการระดมความคิดเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้เป็น “เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” (Thailand's Drug Policy Revisited) ในการแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหายาเสพติดในบริบทของประเทศไทยต่อไป จากข้อมูลที่ TIJ รวบรวมมาสะท้อนว่า ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังของประเทศไทยที่ส่งผลสืบเนื่องให้เกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหลากหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคดีล้นศาลและนักโทษล้นคุก สังเกตได้จากปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นและสัดส่วนผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลทางสถิตินับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นและจำนวนผู้ต้องขังจากความผิดภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ สูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับความผิดภายใต้กฎหมายอื่นๆ และ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2556 ปริมาณคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น สูงถึงกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณคดีทั้งหมด จากการสำรวจทุกปีพบว่า มีจำนวนคดีเมทแอมเฟตามีนมากที่สุดเมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี การสำรวจปี 2551 ผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ปี 2555 กว่าร้อยละ 60 และล่าสุดในปี 2558 สูงถึงกว่าร้อยละ 70 นอกจากนี้ รัฐยังทุ่มงบประมาณจานวนมากเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของรัฐที่จัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้ติดยาเสพติด ในแต่ละปีสูงถึง 4,000-10,000 ล้านบาท ตลอดช่วงปี 2555-2559 งบประมาณด้านยาเสพติดโดยเฉลี่ยต่อปีมีจานวนสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับกรมราชทัณฑ์ งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เพื่อดูแลผู้ต้องขังสูงถึงร้อยละ 50 ของงบประมาณทั้งหมดของ กระทรวงยุติธรรม ขณะที่ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยไม่มีแนวโน้มจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น จึงเริ่มมีการตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับปัญหายาเสพติดในประเทศไทย” ทั้งนี้เพราะปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการดำรงชีวิต รัฐบาลเองก็ได้ยกให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังขาดการบูรณาการ งานส่วนใหญ่เน้นการปราบปรามมากกว่าการป้องกันและการบำบัด อีกทั้งแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสพยังมีความเข้มงวดและรุนแรงอยู่มาก ทำให้ผู้เสพจานวนมากต้องถูกลงโทษคุมขังโดยไม่จาเป็น เนื่องด้วยความเข้มงวดของตัวบทกฎหมายและแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ทำให้ถูกตีตราว่าเป็นคนมีประวัติอาชญากรรม ไม่สามารถเริ่มชีวิตใหม่ในสังคม และอาจต้องเข้าสู่วงจรของอาชญากรรมที่เลวร้ายมากขึ้น องค์การสหประชาชาติ (The United Nations - UN) ให้ความสนใจในการแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยจัดตั้งคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs-CND) ขึ้นในปี 2489 และจัดให้มีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (The UN General Assembly Special Session on Drugs-UNGASS) ตั้งแต่ปี 2541 เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอความคืบหน้า พร้อมวิเคราะห์เสาะหาแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ในการประชุม UNGASS ครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2559 มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (good practice) ของประเทศสมาชิกต่างๆ และปรากฏว่ารูปแบบของประเทศโปรตุเกส ที่ได้ปรับนโยบายและกฎหมายในส่วนการกระทำความผิดบางอย่างเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดให้ไม่เป็นความผิดอาญา โดยใช้มาตรการทางปกครองและสาธารณสุขเข้ามาแทนที่ หรือที่เรียกว่า ‘decriminalization’ นั้น เป็นที่สนใจของประเทศสมาชิกอย่างมาก เพราะสามารถลดปัญหายาเสพติดและควบคุมปัญหาการเสพยาในประเทศโปรตุเกสได้อย่างเป็นที่พอใจ จึงน่าจะเป็นมาตรการที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาผู้เสพยาเสพติด ไว้คราวหน้ามาติดตามกันว่า “โปรตุเกสโมเดล” เป็นเช่นใด และสามารถมาปรับใช้กับประเทศไทย หรือโดยเฉพาะในพื้นที่ “ชายแดนใต้” ได้อย่างไรบ้างหรือไม่