ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ได้ร่วมกับ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 จัดทำโครงการอบรมเยาวชนเพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษ์ป่า ครั้งแรกเมื่อ ปี 2544 และจัดเรื่อยมาทุกปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 มีการปรับโครงการ โดยเพิ่มการอบรมทักษะการเขียนและการถ่ายภาพเบื้องต้น มี สำนักหัวใจเดียว องค์กรภาคประชาชน เข้ามาร่วม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการอบรมเยาวชนเพื่อสร้างนักเขียนและสร้างจิตสำนึกในการรักษ์ป่า” วัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการรวมกลุ่มนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของเยาวชน การจัดกิจกรรมส่งเสริมเสริมเยาวชนให้รู้รักสามัคคี และมีวัตถุประสงค์ใหม่เพิ่มเข้ามา คือ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะในการเขียน การถ่ายภาพ ให้กับเยาวชน สำหรับเป็นพื้นฐานในการเป็นนักเขียนหรือสื่อมวลชลที่ดีในอนาคต ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การอบรมทุกครั้งที่ผ่านมา ทาง อบต.อัยเยอร์เวง มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการฯ อยู่เสมอ โดยทราบว่าผลการประเมินอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ เด็กและเยาวชนที่เข้าโครงการฯ มีจิตสำนึกในการรักษาป่าฮาลา-บาลา และมีความรู้สึกอยากจะรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้ดีมากขึ้น รวมไปถึงเยาวชนมีความต้องการที่จะเข้าไปศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ ของป่าฮาลา-บาลา มากขึ้นทุกปี สำหรับโครงการอบรมเยาวชนเพื่อสร้างนักเขียนและสร้างจิตสำนึกในการรักษ์ป่าในปี 2560 มีกำหนดตั้งแต่ วันที่ 27-30 เมษายน 2560 ผู้ร่วมโครงการฯประกอบด้วย เด็กและเยาวชน (ภายในตำบลอัยเยอร์เวง อายุ 12-15 ปี) จำนวน 55 คน คณะวิทยากร ทีมพี่เลี้ยง กลุ่มเฌอบูโด กลุ่มฟ้าใส เทศบาลเมืองเบตง และสำนักหัวใจเดียวกัน รวม 20 คน เจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 จำนวน 18 คน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง จำนวน 15 คน รวมผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้น ประมาณ 108 คน การดำเนินงานแบ่งเป็นการอบรมสัมมนา ณ ห้องประชุมกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 445 อำเภอเบตง เป็นเวลา 1 วัน และเดินทางไป ณ หน่วยอนุรักษ์สวนป่าพระปรมาภิไธย ที่ 2 (ปากคลองฮาลา) เป็นเวลา 3 วัน โดยคณะผู้จัดการโครงการฯ หวังว่าเยาวชนผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ถึงทักษะเบื้องต้นในการเขียน ทักษะเบื้องต้นในการถ่ายภาพ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านเกิด โดยเฉพาะ “ผืนป่าฮาลา – บาลา” ตลอดไป งานเขียนเรื่อง “ฮาลา-บาลา ไง จะใครล่ะ?” ของ “นดา” หนึ่งในเยาวชนที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ดูเหมือนจะสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว เธอเขียนไว้ว่า สำหรับครั้งแรกที่มาฮาลา-บาลา ได้เดินทางมาทางเรือกจากวัดตาพะเยา ล่องจนมาถึงฮาลา-บาลา จากตรงนี้นับแล้วใช้เวลาทั้งหมดโดยประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ในระหว่างล่องเรือก็ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหนู เป็นแม่น้ำสายกว้างๆ ป่าสุดลูกหูลูกตา ไม่เหมือนกับป่าที่มีต้นยางที่เราเห็นทุกวัน ป่าตรงนี้เหมือนป่าจริง พอมาถึงค่ายที่ฮาลา เห็น “โอรังอัสลี” ต้อนรับพวกเราอยู่นับ 10 คน หนูตื่นเต้นมาก เพราะนี้คือครั้งแรกที่ได้เห็นโอรังอัสลีจริงๆ ได้เห็นป่าจริงๆ วันแรกเป็นกิจกรรมในค่าย ส่วนวันที่ 2 นั้น มีการสำรวจป่าในภาคเช้า “ตอนนั้นรู้สึกเหนื่อยมากๆ รู้สึกอยากแกล้งเป็นลมตรงนั้นเลยก็ว่าได้ แต่พอถึงจุดที่ต้องล่องแม่น้ำกลับค่าย รู้สึกความเหนื่อยหายพลันทันที เหลือแต่ความสนุกตื่นเต้น มีความสุขจริงๆ ลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าว่ายน้ำไม่เป็น” นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ที่ได้รู้จักในค่ายฯ ว่า ตอนกลับถึงค่าย รู้สึกความสัมพันธ์กับเพื่อนในค่ายยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น อาจเป็นเพราะการที่เรามาลำบากด้วยกัน มาทำกิจกรรมด้วยกัน ทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยกัน ก็เป็นได้ พอมาถึงจุดนี้ จุดที่จะต้องส่งงาน ทั้งการถ่ายภาพ การวาดภาพ และการเขียนเรียงความ รู้สึกไม่กังวลสักเท่าไหร่แล้ว อาจเพราะการได้ลงพื้นที่ ได้เรียนรู้จากครูทั้งหลาย ทำให้ได้ประสบการณ์มากขึ้น “สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณค่ายฮาลา-บาลา จริงๆ ที่ทำให้ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มาลองฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ได้เห็น ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง ได้ความรู้จากค่ายนี้ และหนูจะนำไปใช้ในชีวิตค่ะ” ข้อเขียนของเยาวชนอีกคนหนึ่ง คือ “อาทิตยา เจ๊ะแว” เรื่อง “การผจญภัยของฉันในป่าฮาลา-บาลา” เล่าเรื่องราวด้วยความใสซื่อว่า วันแรกที่ฉันได้เข้ามาเรียนรู้ในป่าฮาลา-บาลา ฉันมีความสุขมาก ได้มาเจอเพื่อนใหม่ ได้มาเจอพี่เลี้ยงสุดน่ารัก เจอพี่ๆ อาจารย์ที่แสนดี ได้ลงหาความรู้เกี่ยวกับป่า จากการที่พวกเรานั่งเรือลำใหญ่นั้น ได้มองไปรอบๆ ฉันเห็นบรรยากาศที่สดใสมีชีวิตชีวา บรรยากาศดีมาก มีแม่น้ำรอบๆ มีภูเขาที่มีท้องฟ้าที่สวยมาก และฉันได้สังเกตเห็นมีเหมือนหมู่บ้านที่อยู่ติดฝั่ง เขาโบกมือมาให้พวกเราด้วย “พวกเราดีใจมาก เหมือนได้รับความอบอุ่นจากพวกเขา จากนั้นพวกเราก็ได้เดินทางมาถึงจุดมุ่งหมาย นั้นก็คือ ป่าฮาลา-บาลา พวกเรามีความสามัคคีมาก พอลงจากเรือ พวกเราก็ได้ตั้งแถวเพื่อที่จะขนของลงจากเรือ” เมื่อมีโอกาสเดินสำรวจทัศนศึกษาในป่าฮาลา-บาลา เธอสะท้อนถึงอารมณ์ที่ได้เจอทากประมาณ 20 ตัว การได้ถ่ายภาพหมู่กับเพื่อนๆ เยาวชนร่วมค่ายฯ ณ ต้นสมพงยักษ์กลางป่าใหญ่ และที่สำคัญคือ การได้สัมผัสกับร่องรอยของสัตว์ป่าด้วยตาตนเองจริงๆ ระหว่างการเดินเท้า “เดินไปเรื่อยๆ ก็ได้เห็นรอยเท้าช้างป่า เห็นรอยหมูป่า จากนั้นเมื่อพวกเราไปถึงจุดหมาย พวกเราได้ถ่ายรูปอีกครั้ง ถ่ายเสร็จ พี่ๆ พาพวกเรากลับทางน้ำจนถึงที่พัก” ส่วนเรียงความเรื่อง “ฉันรักฮาลา-บาลา” ของ เด็กหญิง นูรฮายาตี ยูกง ตอนหนึ่งเล่าถึงความรู้สึกเมื่อถูกพี่ๆ วิทยากรจับแยกกลุ่มว่า รู้สึกเสียใจมาก เพราะอยากอยู่กับเพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน “แต่หนูคิดว่าหนูคิดผิดไปมาก เพราะเมื่อเราได้เจอเพื่อนใหม่ เราก็มีประสบการณ์เข้ามาในชีวิตเพิ่มอีก และหนูก็รู้สึกมีความสุขมาก” เธอสรุปความจากประสบการณ์ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่ายเยาวชนในครั้งนี้ว่า การที่ได้เพื่อนใหม่ เป็นสิ่งดีสำหรับพวกเรามาก นอกจากนี้ยังได้เจอประสบการณ์หลายๆ อย่างเพิ่มอีก “หนูอยากขอบคุณพี่ๆ ที่ได้ดำเนินโครงการอบรมเยาวชนรักษ์ป่าฮาลา-บาลา ขึ้นมา ทำให้หนูได้เจอเพื่อใหม่ และได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ มาก ปีหน้าถ้ามีโอกาส หนูจะเข้าร่วมโครงการฯ อีกครั้งค่ะ” ผู้เขียนหวังว่าตัวอย่างเสียงของเด็กๆ ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของคำว่า “เพื่อน” ทั้งที่นับถือศาสนาเดียวกัน และต่างศาสนา รวมถึงประสบการณ์จากการได้สัมผัสผืนป่ามหัศจรรย์ “ฮาลา-บาลา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสะท้อนถึง “ความอุดมสมบูรณ์” ของทรัพยากรธรรมชาติ น่าจะสื่อสะท้อนไปถึงผู้ใหญ่หลายๆ คน ที่คิดแต่จะ “ตัดไม้ทำลายป่า” หรือกลุ่มที่พยายาม “ตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยก” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้หวนรำลึกถึงอนาคตของลูกหลานตาดำๆ เหล่านี้บ้าง ว่าเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป หากป่าถูกทำลาย หรือสถานการณ์ความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ คอยแต่สร้างสม “บาดแผล” ให้แก่กัน