ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น” หรือ “มัสยิดตะโละมาเนาะ” เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปซึ่งมักจะเรียกกันติดปากว่า “มัสยิด 300 ปี” ถือเป็นมัสยิดเก่าแก่มีประวัติยาวนานแห่งหมู่บ้านตะโละมาเนาะ ต.ลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาส ประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ถึงเขตพื้นที่บาเจาะ เข้าทางแยกบ้านบือราแง กล่าวกันว่าผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2167 คือ “วันฮูเซ็น อัส-ซานาวี” ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จ.ปัตตานี แรกสร้างมีลักษณะเป็นเพียงหลังคามุงใบลานแบบเรียบง่าย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ส่วนชุมชนข้างเคียงมีหลักฐานว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือมีชื่อเสียงขจรกระจายไกล อย่างไรก็ตาม สิ่งโดดเด่นประการหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันเสมอของมัสยิดแห่งนี้ คือ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไป ด้วยเป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู ได้รับการออกแบบอย่างลงตัว เหนือหลังคามีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่งกลายเป็นส่วนเด่นสุดของอาคาร ส่วนหออาซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีนตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง  ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลวดลายจีนอย่างกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์  ช่วงที่ผ่านมา ชาวบ้านตะโละมาเนาะใช้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีศาสนกิจเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีความรักและหวงแหนมาก เนื่องจากมีเอกลักษณะและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่งดงาม ส่วนนักท่องเที่ยวหรือผู้พิสมัยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรือศิลปวัฒนธรรม ก็มักแวะไปเยี่ยมเยือนสัมผัส “มัสยิด 300 ปี” อยู่อย่างสม่ำเสมอ กระทั่งวันหนึ่งดูเหมือนสิ่งเปลี่ยนแปลงกำลังรุกเข้าสู่ชุมชนและมัสยิดแห่งนี้ ข่าวคราวหรือเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ ดูเหมือนจะได้สะท้อนอะไรไว้มากมายกลายเป็นปมปัญหาละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวผลประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ผมได้ย้ำไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เฉพาะกรณีนี้ แต่บริษัทใดก็ตามที่ล้มละลาย ทิ้งงาน หรือบริษัทใดที่มีการเปลี่ยนชื่อผู้บริหาร หรือจดทะเบียนใหม่ จะให้เข้ามารับงานใหม่อีกไม่ได้ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางไปหามาตรการมาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีที่ยืนในการประกอบธุรกิจอีก” ซึ่งนั่นเป็นสืบต่อเนื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวว่า บริษัทรับจ้างปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีที่บาเจาะ งบประมาณเกือบ 150 ล้านบาท ถูกตรวจสอบพบว่าเป็น “บริษัทล้มละลาย” ที่มาที่ไปของเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี” ดูเหมือนจะถูกสะท้อนอย่างชัดเจนผ่านจดหมาย “ผลกระทบภาพลักษณ์ของประเทศไทย กับ โอไอซี ในโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ มัสยิด 300 ปี” ที่ “มูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา” รองประธาน ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ประจำอำเภอบาเจาะ ในฐานะตัวแทนชมรมฯ ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือให้กับ 3 หน่วยงาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลระงับโครงการฯ เนื้อหาในจดหมายร้องเรียนร่ายเรียงว่า “ด้วยโครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ มัสยิด 300 ปี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นจากประชาชนในพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ ได้เสนอขอโครงการฯ ต่อองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC (Organization of the Islamic Cooperation) เมื่อครั้งที่ตัวแทน OIC เดินทางไปเยี่ยมชมมัสยิดตะโละมาเนาะ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ต่อมา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เข้ามาจัดทำประชาคมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของรัฐบาลโดยไม่ต้องขอรับการสนับสนุนจาก OIC เพื่อที่จะรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการดูแลโบราณสถานที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ อิหม่ามประจำมัสยิด 300 ปี และชมรมอิหม่ามฯ อำเภอบาเจาะ ได้บอกเงื่อนไขสำคัญต่อ ศอ.บต. ว่า การดำเนินการโครงการ จะต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา ทางกรมศิลปากรได้วางงบประมาณในการที่จะบูรณะมัสยิด แต่ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านและยุติโครงการไปในที่สุด” ต่อมา เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อเงื่อนไขที่ชาวบ้านเสนอ ได้รับการตอบรับจาก ศอ.บต. เป็นอย่างดี และได้อนุมัติเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับชมรมอิหม่ามฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำแบบเพื่อก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 1,930,200 บาท และปี 2556 ทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ข้อความในจดหมายร้องเรียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมกับมีการรื้อคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ของโครงการฯ จากเดิมกรรมการส่วนใหญ่มาจาก “ภาคประชาชน” มาเป็น “ข้าราชการ” เกือบทั้งหมด ซึ่งทางชมรมฯ เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ขณะเดียวกัน มีการชี้แจงความคืบหน้าและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดต่อตัวแทน OIC รวมถึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานเพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินการ กระทั่งในที่สุด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 พร้อมกับสำนักข่าว Thai PBS และมีการออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 รายการล่าความจริง ช่อง NOW26 ได้ตรวจสอบบริษัทที่ทาง ศอ.บต. จัดจ้างโครงการ ปรากฏว่าเป็น “บริษัทที่ล้มละลาย” ตราบกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2560 หลังประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ดังที่ปรากฏเป็นข่าว และสื่อหลายสำนักต่างติดตามอย่างต่อเนื่อง ในท้ายของจดหมายร้องเรียนสำแดงถึงเจตนารมณ์ว่า “จากลำดับเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการหารือกันและได้ข้อสรุปว่า การทำงานและผลลัพธ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของ ศอ.บต. จากเดิมการริเริ่มโครงการฯ นี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทยกลับกลายเป็นภาพลบต่อโลกมุสลิม ในนามของชมรมอิหม่ามฯ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนในชุมชนทั่วทั้งพื้นที่ ซึ่งมีวิถีชีวิตแนบแน่นกับมัสยิดตะโละมาเนาะสืบเนื่องมายาวนานมาเกือบ ๔๐๐ ปี มีความเห็นว่า หากโครงการนี้ยังคงเดินต่อภายใต้ปัญหาความไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างนี้ จะเป็นการสร้างรอยร้าวใหม่ในพื้นที่ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มประเด็นความขัดแย้งให้ร้าวลึกและกว้างขวางออกไปอีก จึงขอให้รัฐบาลยุติโครงการฯ นี้อย่างเร่งด่วน” เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมตรวจสอบ พิสูจน์ความจริง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีตัวละครหรือผู้มีส่วนสัมผัสสัมพันธ์หลายภาคส่วน จึงอาจสร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม และ “ภาพลักษณ์” ของหน่วยงานในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วจะส่งผลต่อเนื่องอีกหลายเงื่อนปมต่อการแก้ไขปัญหาไฟใต้ ซึ่งล้วนเป็นปมคำถามคาใจคนพื้นที่มายาวนาน