ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ประเด็นเรื่อง “ที่ดินบูโด” เป็นปัญหายืดเยื้อที่เกิดขึ้นมายาวนาน และผู้เขียนเคยนำเสนอหลายครั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ภาครัฐประกาศใช้ “กฎหมายอุทยานแห่งชาติ” ทำให้เกิดปัญหาทับที่ดินทำกินของชาวบ้านแถบเทือกเขาบูโด เป็นข้อพิพาททับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ที่มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และปี พ.ศ.2542 เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถถือครองที่ดินทำกินได้อย่างยั่งยืน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยประจักษ์ถึงความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายที่ดิน โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงรู้จักชื่อเสียงของ “เปาะจิแห่งเทือกเขาบูโด” หรือ “ดือราแม ดาราแม” เป็นอย่างดีในฐานะ “ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโส” หนึ่งในแกนนักต่อสู้เชิงความคิดเพื่อแสวงหาหนทางแก้ปัญหาใหญ่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนจะมอบไม้ต่อให้กับนักสู้เพื่อความเป็นธรรมรุ่นถัดมาอีกหลายคน โดยเมื่อ 2 ปีก่อน เกิดเรื่องราวอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่โต นั่นก็คือการ “ร่วมโค่นยางคืนความเป็นธรรมให้บูโด” ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เสมือนเป็นสัญลักษณ์การ “ลุกขึ้นสู้” อีกครั้งของชาวบ้านในเรื่องปัญหาที่ดินทำกินที่ถูกประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับซ้อน โดยเวลานั้น ผศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาคณะทำงานที่ดินทำกิน 3 จังหวัดภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะผู้แทนเครือข่ายปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี กล่าวถึงกิจกรรมโค่นต้นยางแรกว่า เป็นการแสดงออกของพี่น้องชาวบูโดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันสะท้อนความเดือนร้อนที่ต้องเผชิญซึ่งเกิดจากการประกาศเขตอุทยานทับทำกินที่เรื้อรังมากว่า 50 ปี รวมทั้งกฎหมายรัฐที่เกิดความล่าช้า โดยให้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งว่า เป็นผลจากการเข้ามาของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ได้ประกาศใช้แผนแม่บทของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำให้กระบวนการที่ชาวบ้านเรียกร้องมาและได้รับการรับรองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ตุลาคม 2557 ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ย้อนไปในวันนั้น นอกจากจะมีชาวบ้านจำนวนมากเข้าร่วมแล้ว ยังมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านในปี 2555–2557 เข้าร่วมอีกด้วย รวมถึงตัวแทนหน่วยงานของรัฐ เครือข่ายประชาชนจากหลายภาคส่วน สิ่งที่ชาวบ้านวาดหวังต้องการ คือ การลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากศูนย์กลาง เพราะอำนาจหน้าที่ตามบัญญัติของ ศอ.บต. ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ ศอ.บต. จะทำหน้าที่เป็นข้อต่อเพื่อให้ศูนย์กลางลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นเวทีกลางระหว่างชาวบ้านกับนโยบายของรัฐ กระทั่งล่าสุด ปัญหาเรื่องที่ดินบูโด ดูเหมือนจะคืบหน้าไปอีกวาระหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อ “จำนัล เหมือนดำ” ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และคณะ ศอ.บต. ได้เปิดประชุมติดตามความคืบหน้าการเดินสำรวจและออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรที่อยู่อาศัย  พร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านตำบลละโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบริเวณพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีชลิต มณีรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนกิจการมวลชน ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า การเดินสำรวจและออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรที่อยู่อาศัยโดยเขตรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยมี จำรัส เลื่อนแป้น ผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจที่ดินจังหวัดนราธิวาส (1) ปัตตานี-ยะลา เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยเดินสำรวจที่ดินจังหวัดนราธิวาส (1) ปัตตานี-ยะลา ร่วมประชุม ภายหลังจากการประชุมแล้ว คณะได้ลงพื้นที่พบปะเครือข่ายบูโด และตรวจสอบการเดินรังวัดแปลงที่ดิน ที่บ้านกูแว หมู่ 5 ตำบลลูโบะบายะ อำเภอยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส โดยมี ยาลา ใบกาเด็น นายอำเภอยี่งอ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ร่วมด้วย เป้าหมายเพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเด็นสำคัญในวาระเดียวกันนี้ คือการที่ จำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เป็นประธานพิธีมอบโฉนดที่ดินตามโครงการ “แจกโฉนดที่ดินทั่วทิศ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หมู่ 7 ตำบลละโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส รวมจำนวน 175 แปลง  95 ราย ในเขตรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดยมี ยะยาห์ ปะนาฆอ นายอำเภอรือเสาะ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา บัณฑิตอาสาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม “รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน มีนโยบายที่จะเร่งรัดให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่ต้องการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสำหรับการครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดิน รวมทั้งถือเป็นหลักทรัพย์สำคัญ ในการสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว   พร้อมกับสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน วันนี้เป็นการมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนในตำบลละโละ หมู่ที่ 1, 4, 7 และ 8  ขอเป็นกำลังใจและชื่นชมประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ดินที่นี่มีความสมบูรณ์ อยากให้ประชาชนใช้ประโยชน์ให้มีคุณค่ามากที่สุด” คำกล่าวของ จำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ดูเหมือนจะสร้างความพึงพอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก และสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กรมที่ดินและสำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ โดยศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดนราธิวาส (1) ปัตตานี–ยะลา ได้สนองนโยบาย ในปีงบประมาณ 2560 ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดทำแผนที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตามโครงการแจกโฉนดที่ดินทั่วทิศ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับผลการดำเนินงานโครงการได้ผลตามเป้าหมาย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน รวมทั้งส่วนท้องถิ่นและประชาชน  “พวกเรารู้สึกดีใจมาก ที่วันนี้มัสยิดได้รับโฉนดที่ดิน ต้องขอบคุณทางรัฐบาล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมที่ดิน ที่ร่วมกันช่วยเหลือชาวบ้าน การที่มัสยิดได้รับโฉนดทำให้เราสามารถก่อสร้างอาคารเรียนตาดีกาให้กับเด็กในหมู่บ้านได้ ต้องขอขอบคุณแทนชาวบ้านเป็นอย่างมาก ที่รัฐบาลให้ความจริงใจช่วยเหลือชาวบูโดให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป” คำพูดจาก อับดุลมานัพ ดอลอ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดนูรูลยากีน หมู่ 7 ตำบลละโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่กล่าวแทนใจชาวบ้านทั้งหมด เหมือนจะสะท้อนความพึงพอใจของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า ปัญหาหรือโครงการอะไรก็ตาม หากภาครัฐให้ความใส่ใจ ทุ่มเท ร่วมวางแผน ร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” ย่อมจะสร้างคุณประโยชน์และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ละเอียดอ่อน อันจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอื่นๆ ติดตามมาได้ไม่ยากนัก