เสือตัวที่ 6 กระบวนการในการเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่แห่งนี้ มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและมีความต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้า เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐ และสานต่อแนวร่วมขบวนการให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน โดยกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ ให้เกิดการสร้างความเกลียดชังรัฐที่ผ่านมานั้น ถูกพิสูจน์ทราบจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง จึงพบว่ากระบวนการนี้มีอยู่จริง โดยการพบร่องรอยการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบจากสถานศึกษาบางแห่ง จากผู้กระทำผิดที่ถูกจับได้หรือการพิสูจน์หลักฐานตามหลักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการติดตามผู้ต้องสงสัยเข้าไปในสถานศึกษาบางแห่ง จนพบร่องรอยการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ สร้างแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาอย่างเป็นกระบวนการ โดยหลังจากหน่วยเฉพาะกิจสันติสุขได้เข้าถึงสถานศึกษาในพื้นที่ได้มากขึ้น ขบวนการฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการในการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เช่น การสร้างความแนบเนียน โดยไม่ทิ้งร่องรอยของกระบวนการบ่มเพาะสร้างแนวคิดเกลียดชังต่อรัฐ ให้เห็นง่ายๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในห้องเรียน โต๊ะเรียน หรือตามฝาผนังเรือนพักที่อยู่ประจำ ตลอดจนกระดาษหรือแผ่นป้าย เป็นต้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้รูปแบบการแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นรูปแบบการปกปิดการอบรมบ่มเพาะอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากที่กระทำในสถานศึกษา ไปเป็นการกระทำนอกสถานศึกษา ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมเข้าค่ายนอกสถานที่ในห้วงต่างๆ เช่นห้วงการปิดภาคเรียน รวมทั้งการใช้สถานที่อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในการใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง สร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการชักจูงเยาวชนให้หลงผิด เข้าร่วมขบวนการฯ ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง จากงานวิจัยของนักวิชาการทางทหารกลุ่มหนึ่ง พบว่า กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเข้าเป็นแนวร่วมในการก่อความไม่สงบในพื้นที่แห่งนี้อย่างลุ่มลึกนั้น มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ โดยพบว่า มีการดำเนินการในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการคล้อยตาม จนถึงขั้น ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐ ดังนี้ 1) การสร้างบรรยากาศของความไม่ปกติของพื้นที่ กระบวนการบ่มเพาะในสถานศึกษาในพื้นที่ฯ นั้น จะเริ่มด้วยการสร้างบรรยากาศของความไม่ปกติด้วยการเร่งเร้าให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้สึกรับรู้ร่วมกันว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนั้น จำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายเอกราชร่วมกัน ร่วมกันต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มคนในพื้นที่ ที่ทุกคนเล็งเห็นร่วมกันว่า ปัจจุบัน ยังมีกลุ่มคนนอกศาสนามาเคลื่อนไหวด้วยกองกำลังติดอาวุธหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเคลื่อนไหวให้เห็นอย่างชัดเจนในพื้นที่ ให้เริ่มคิดและสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ล่อแหลมต่อความไม่เป็นธรรมมากขึ้น 2) จัดระบบการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการสอดแทรก ในกระบวนการบ่มเพาะแนวคิดก่อความไม่สงบนั้น จำเป็นที่สถานศึกษาจะต้องมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสอดแทรกการสั่งสมบ่มเพาะแนวคิดตามที่ต้องการได้ โดยการจัดระบบการเรียนที่สลับกันไปมาระหว่างการเรียนการสอนสายสามัญกับการเรียนการสอนสายศาสนานั้น สามารถสร้างโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีสอดแทรกความแตกต่างทางความคิดความเชื่อให้เด็กและเยาวชนได้สะดวกขึ้น ด้วยไม่มีกลไกใดๆ ของรัฐในการเข้าไปกำกับดูแลการเรียนการสอนศาสนา โดยเฉพาะการมีนักเรียนที่อยู่พักประจำในสถานศึกษา ซึ่งมีการเรียนการสอนทางศาสนา โดยปราศจากการกำกับดูแลใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางคืนและช่วงเวลาเช้าตรู่ที่อาจเป็นโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีดำเนินการบ่มเพาะแนวคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐได้ 3) การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ที่แตกต่าง กระบวนการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ จำเป็นที่จะต้องสร้างอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ของตนขึ้น เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในพื้นที่ (Unity) ให้รับรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า คนในพื้นที่เป็นพวกเดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกันที่จะต้องรักสามัคคีและร่วมมือกัน ในขณะเดียวกัน เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป โดยเรียกคนเหล่านั้นว่า คนนอกศาสนา เพื่อแบ่งพรรคแบ่งพวกกับคนนอกพื้นที่ซึ้งก็คือคนที่นับถือศาสนาพุทธโดยทั่วไป อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เกื้อกูลต่อการโน้มน้าวให้บุคคลเป้าหมาย ได้เข้าใจรับรู้ในแนวทางที่แกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ต้องการ เห็นและตระหนักร่วมกันในการเข้าร่วมขบวนการฯ การสร้างความเห็นต่างต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวทั้งวิจารณญาณ และอายุที่ยังน้อย ตลอดจนบรรยากาศในพื้นที่ ที่มีกลิ่นอายของความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแกนนำขบวนการสร้างขึ้น ทำให้เกิดสภาวะที่เอื้ออำนวยในการชักนำความคิดต่อกลุ่มเป้าหมายให้หลงเชื่อได้ไม่ยาก โดยอาศัยอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่น อันจะนำไปสู่การถูกปลุกเร้าให้เห็นถึงความแตกต่างจากรัฐไทยและต้องการการปกครองแบบรัฐอิสลามบริสุทธิ์ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ชี้นำให้คิด และชี้เป้าให้ทำนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ภายใต้ความเชื่อต่างๆ ดังกล่าวที่ถูกปลูกฝัง หรือสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐอย่างทรงพลังและต่อเนื่อง การหล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดแนวคิดอันเป็นปรปักษ์ต่อคนไทยส่วนใหญ่ของแผ่นดินนี้ จึงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นของชาติ ซึ่งแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้ฉกฉวยช่องว่างของการบริหารจัดการของรัฐ และเงื่อนไขที่สร้างขึ้น เช่นการปฏิบัติการข่าวสารว่า ให้คนในพื้นที่ แก้ปัญหาในพื้นที่เอง โดยการเรียกร้องให้รัฐ ปล่อยให้คนในพื้นที่ดำเนินวิถีชีวิตตามที่ต้องการ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ด้วยการอ้างความเชื่อตามหลักศาสนา ทำให้การให้การศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่หลายแห่งถูกใช้ช่องว่างนี้ เป็นโอกาสในการหล่อหลอมกล่อมเกลาแนวคิดที่แปลกแยกกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยการเริ่มจากการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยการบ่มเพาะดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งรัฐไทยจะต้องตระหนักและดำเนินการสกัดกั้นกระบวนการของฝ่ายเห็นต่างจากรัฐให้มากกว่าที่ผ่านมา ก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่านี้