ผลการตรวจสอบทางร่างกายของอับดุลเลาะ โดยโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งคือ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รายงานตรงกันอย่างชัดเจนว่า สาเหตุการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.62 หลังจากหมดสติ ระหว่างการถูกควบ คุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานีนั้น เกิดจากปอดอักเสบและติด เชื้ออย่างรุนแรง ไม่ได้เกิดจากการถูกซ้อมทรมานไม่มีร่องรอยการถูกทำ ร้ายร่างกายทั้งจากภายในและภายนอก แต่อย่างใดทั้งสิ้น ด้วยหลังจากการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ได้ถูกกลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบและโหมกระพือข่าวการถูกซ้อมทรมานกว้างขวางสร้างความโกรธแค้นชิงชังให้เกิดขึ้นในหัวใจผู้คนในพื้นที่แห่งนี้กับคนของรัฐอย่างมีเป้าหมาย เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐ และทำให้การแก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐต้องสะดุดลง จนเกิดกระแสความเชื่อ ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงว่า การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงของรัฐผู้นี้ เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการถูกซ้อมทรมาน อันเป็นการกระทำที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลโดยหวังจะยกระดับความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ เข้าสู่เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการการกำหนดใจตนเอง(Rights to Self Determination) ข้อหนึ่งนั่นคือ ในพื้นที่แห่งนี้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้รับผิดชอบการแก้ปัญหาไฟใต้ในเชิงพื้นที่ ได้ออกมายืนยันความโปร่งใส ตรงไปตรงมาของการปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงทุกราย ตามหลักสากล และพร้อมให้หน่วยงานทุกภาคส่วน เข้ามาพิสูจน์การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยรายนี้ ในขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตรงไปตรงมา ยากที่จะบิดเบือนได้ และเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมกับการพิสูจน์การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งคณะกรรมการที่เข้าสอบสวนเพื่อหาความจริงกลุ่มนี้ อยู่ในรูปคณะกรรมการพิสูจน์ความจริงอันเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย จนมีการแถลงผลการพิสูจน์การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยรายนี้ออกมาอย่างเป็นทางการว่า การเสียชีวิตของบุคคลผู้นี้ เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีสิ่งผิดปกติจากการถูกซ้อมทรมานหรือถูกทำให้เสียชีวิตลงตามที่มีการ IO ในช่วงแรกๆ ของการเสียชีวิต แต่อย่างใดทั้งสิ้น คณะกรรมการฯ ได้เปิดแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง วันอังคารที่ 28 ส.ค.62 หลังการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ 3 วัน โดยนายอับดุลอาซิซ เตเดอินทร์หนึ่งในกรรมการ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีใจความสำคัญว่า คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แต่งตั้งบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับทางสังคมจากผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา นักวิชาการ ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ โปร่งใส เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ซักถาม เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามและให้ข้อมูล ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปการดำเนินการดังนี้ ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ได้ทำการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ พบว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ จากการสอบถามข้อมูลรายบุคคลไม่ได้พบความผิดปกติใดๆ โดยการรายงานทางการแพทย์จากทุกฝ่าย พบว่าสาเหตุเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง severe pneumonia และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ septic shock สาเหตุนำ คือภาวะสมองขาดเลือดและขาดออกซิเจน hypoxic ischemic encephalopathy ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ทั้งจากการตรวจภายนอก การเอกซเรย์การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่พบรอยช้ำของเนื้อเยื่อใดๆ และไม่พบกระดูกร้าวแตก อันจะเป็นหลักฐานแสดงร่องรอยการกระแทกจากภายนอก ทั้งจากกรณีที่มีวัตถุภายนอกมากระทำ หรือจากอุบัติเหตุล้มแล้วไปกระแทกกับวัสดุแข็งใดๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯมีมติว่าควรให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ตามความเหมาะสมต่อไป เหล่านี้คือความจริงที่สังคมต้องรับรู้ และร่วมกันตระหนักว่า การขับเคลื่อนเพื่อให้คนในพื้นที่แห่งนี้ สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญและอนาคตที่ดีให้ลูกหลานของคนในพื้นที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจรับรู้ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจกันและกันระหว่างรัฐและพี่น้องในท้องถิ่น โดยอย่าให้คนกลุ่มใด ฉกฉวยเหตุการณ์เพื่อสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างคนในพื้นที่กับรัฐ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการดำเนินการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ จริงใจ ตรงไปตรงมาเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับและเข้าใจกันในที่สุด